เศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดมุมมองนักศึกษาผ่านวิชาเรียน สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

22 Sep 2014
เศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดการเรียนการสอนรายวิชาเพิ่มด้านเศรษฐศาสตร์ดิจิทัลและงานสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมพร้อมและสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดิจิตอลของรัฐบาลใหม่ว่าเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 และแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกก็จะพัฒนาไปในทิศทางนี้มากขึ้นตามลำดับ การที่รัฐบาลใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวและมีมาตรการสนับสนุนจะทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีความสามารถแข่งขันดีขึ้นและต้นทุนในระบบเศรษฐกิจจะลดลง สัดส่วนและอัตราความเข้มข้นในการใช้พลังงานต่อขนาดของเศรษฐกิจและการเติบโตลดลง อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้จะประสบความสำเร็จเมื่อระบบเศรษฐกิจมีเสรีภาพ สังคมมีหลักประกันในการใช้เสรีภาพในการคิดและแสดงออกได้ เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) และนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งมีเสรีภาพเป็นพื้นฐานสำคัญ

“ด้วยเหตุนี้ทาง คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต จึงมีนโยบายเปิดวิชาเอกเลือกและวิชาเลือกในระดับปริญญาตรีและโทเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ดิจิทัลและงานสร้างสรรค์ หลักเศรษฐศาสตร์ดิจิทัลและงานสร้างสรรค์ เครื่องมือทางดิจิทัลเพื่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ เป็นต้น รวมทั้งหมดเบื้องต้น 8 รายวิชา และได้มีการอนุมัติผ่านสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา และหากมีผู้สนใจศึกษามากขึ้นทางคณะฯ จะพัฒนาเป็นหลักสูตรต่อไป เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy)” ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.ธันย์พัทธิ์ ใคร้วานิช ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจดิจิทัลหรือดิจิตอล หรือ เศรษฐกิจสมัยใหม่ ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ต้องใช้การพบปะหน้าตากัน แบบ Face to face อีกต่อไปเพื่อให้สามารถบรรลุถึงข้อตกลง หรือ การแลกเปลี่ยนระหว่างกัน(transaction) ซึ่งระบบเทคโนโลยีปัจจุบันได้ย่อโลกทั้งใบ เข้าไปใส่ในระบบมือถือ แทปเลต โน้ตบุ้ก ที่พร้อมจะสื่อสารและตัดสินใจได้ในทันที ระบบดิจิตอลหรือดิจิทัลไม่ใช่แค่ ด้านเทเลคอมมิวนิเคชั่น การสื่อสาร ฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ ซึ่งก็มีความสำคัญ แต่เศรษฐกิจดิจิตอลมันกว้างกว่านั้น ระบบธนาคารต้องใช้ดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ รถยนต์เริ่มใช้ดิจิตอลเป็นฐาน ธุรกิจบริการเริ่มใช้ดิจิตอลเป็นฐานทั้งหมด ลักษณะแบบนี้ทำให้ต้นทุนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คู่เจรจาต่อรอง ลดลงเป็นอย่างมาก ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง หาสถานที่ ในขณะเดียวกันสามารถเปิดการเจรจา การค้าขายในเสี้ยววินาที ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และลดต้นทุนในการทำธุรกิจลงเป็นอย่างมาก