ทำอย่างไรเมื่อ...หัวใจหยุดทำงานโดยไม่รู้ตัว
โดย นพ.ประดับ สุขุม
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
“หัวใจ” เปรียบเหมือนเครื่องจักรที่คอยสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายอย่างไม่มีวันหยุดพัก แน่นอนว่าหากเราใช้งานเครื่องจักรที่ชื่อหัวใจแบบไม่ดูแลทะนุถนอมก็อาจทำให้หัวใจของเราทำงานเรรวนและไม่คงทน หรือหยุดทำงานไปโดยไม่รู้ตัว เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” ซึ่งหากปฐมพยาบาลหรือทำการรักษาไม่ทันก็อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตลงได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือในบางคนที่ภายนอกอาจดูร่างกายแข็งแรงไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยหนักๆ มาก่อนก็สามารถเสียชีวิตจากภาวะนี้ได้ หากทำการช่วยเหลือไม่ถูกวิธีหรือไม่ทันเวลา
นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ส่วนต่างๆของร่างกายอย่างทันที สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคหัวใจอยู่เดิมโดยที่เจ้าตัวอาจไม่ทราบ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน และถ้าในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน เราจะเรียกภาวะนี้ว่า “Sudden cardiac death” ซึ่งภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปมักเกิดจาก โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) จากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ส่วนผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปีส่วนใหญ่เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิดไม่ทราบสาเหตุ (hypertrophic cardiomyopathy ) ซึ่งภาวะนี้การออกกำลังกายเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ นอกจากนี้ก็ยังอาจเกิดจาก ภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดในคนอายุน้อย (premature coronary artery disease ) หรือภาวะเส้นเลือดหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด (congenital coronary artery anomalies) ผู้ป่วยบางรายมีระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ส่วนสาเหตุภายนอกที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เช่น ภาวะที่มีวัตถุกระแทก อย่างรุนแรงที่บริเวณหน้าอก ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่า Commotion Cordis นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ยาโด๊ป เช่นการใช้สาร anabolic-androgenic steroids ก็เป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้เช่นกัน
สิ่งแรกที่สำคัญก่อนที่จะช่วยผู้หมดสติ คือ ต้องตั้งสติของตัวเองไม่ให้ตกใจจนทำอะไรไม่ได้ หลังจากนั้นให้ทำการเรียกหรือเขย่าตัวผู้หมดสติว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกหรือชักเกร็งหรือไม่ หรือหายใจเฮือก หรือหยุดหายใจให้สันนิษฐานว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลทันที และถ้าสามารถทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น ขั้นตอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย การนวดหัวใจ (Chest compression) เป็นการเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองให้มากขึ้น โดยปกติสมองสามารถทนต่อการขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 5-8 นาที ถ้านานกว่านี้ จะทำให้เซลล์สมองตายได้ ในปัจจุบันนี้เราแนะนำให้นวดหัวใจเพียงอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องเป่าปากร่วมด้วย ก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้แล้ว วิธีการนวดหัวใจทำได้ดังนี้ วางส้นมือข้างที่ถนัดไว้ตรงบริเวณกลางหน้าอกของผู้ป่วย และนำมืออีกข้างหนึ่งวางทับไว้ด้านบน ระหว่างทำการนวดหัวใจให้แขนเหยียดตรงตลอดเวลา จากนั้นให้ทำการกดหน้าอกให้ลึกประมาณ 1 1/2 - 2 นิ้ว โดยทำการกด และปล่อยหน้าอกให้คืนตัวสุดก่อนการกด แต่ละครั้งกดด้วยความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที (หรือ 25 ครั้งต่อ 15 วินาที) และพยายามทำการนวดหัวใจให้ต่อเนื่องกันให้มากที่สุด ส่วนการปฐมพยาบาลอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Automated External Defibrillator (AED) เป็นเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดพกพา เครื่อง AED ได้รับการออกแบบให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าจากภายนอกร่างกาย โดยจะวินิจฉัยการเต้นของหัวใจ หากพบภาวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติชนิดที่เป็นอันตราย เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้หัวใจกลับมาทำงานตามปกติที่เรียกว่า "Defibrillation" เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัตินั้นออกแบบมาให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้สะดวกและปลอดภัยขึ้น โดยเมื่อเปิดเครื่องแล้วจะมีเสียงให้คำแนะนำแต่ถ้าจะให้ได้ผลดี ผู้ใช้เครื่อง AED ควรจะได้รับการฝึกอบรมการใช้เครื่อง AED ที่ถูกต้องและถูกวิธี เพราะยิ่งใช้เครื่อง AED ได้เร็วเพียงใดโอกาสที่จะสามารถช่วยชีวิตจะยิ่งมีมากขึ้น นายแพทย์ประดับ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพส่งเสริมให้ประชาชนได้มีความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตเพิ่มมากขึ้น และมีแผนจะกระจายจุดติดตั้งเครื่อง AED ไปยังสถานที่สาธารณะ อาทิ สถานที่ราชการโรงเรียน มหาวิทยาลัย สนามบิน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเครื่องมือให้ได้เร็วขึ้นและไม่ต้องรอเครื่องจากโรงพยาบาล ซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคหัวใจเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกเหนือจากนี้เมื่อตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ ช่วยให้คนไข้รู้ตัว และใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้โรคหัวใจกำเริบเร็วเกินไป"
เนื่องในวันหัวใจโลก รพ.หัวใจกรุงเทพ ขอเชิญชวนคนรักสุขภาพร่วม “งาน Saving Million Hearts 2014 ตอน ร่วมดูแลหัวใจคนไทยให้แข็งแรง” พบกิจกรรมช็อป แชะ แชร์ ชิลล์ ในรูปแบบ Heart Market อาทิ Heart Gallery ให้คุณร่วมถ่ายภาพ พร้อมส่งข้อความ “ร่วมดูแลหัวใจคนไทยให้แข็งแรง” ผ่านทาง Social Network Heart Shop ร่วมช็อปสินค้าสุขภาพ และเสื้อ T-Shirt Limited Edition 10 แบบ 10 ลาย ที่ออกแบบโดยเหล่าดีไซน์เนอร์ ช่างภาพ และศิลปินชื่อดัง โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปมอบให้กับ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เลือกแพคเกจตรวจหัวใจ Heart Check-Up Package ในราคาที่คุณยิ้มได้ และเพลิดเพลินกับ Heart Acoustic Concert มินิคอนเสิร์ตสุดชิลล์จากศิลปินวงลิปตา และวงวัชราวลี และชมบูธกิจกรรมดูแลสุขภาพหัวใจมากมาย ในระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน 2557 เวลา 8.00 – 16.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ โรงพยาบาลกรุงเทพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Contact Center โทร. 1719
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit