นายไมเคิล อะราเนต้า ผู้จัดการประจำประเทศไทยของไอดีซี กล่าวว่าการใช้จ่ายด้านไอซีทีของไทยในปี 2558 มีแนวโน้มที่สดใส โดยคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 10.6% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าตลาดกำลังฟื้นตัวจากการเติบโตที่ค่อนข้างน้อยในปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยหลักจากตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคจับจ่ายซื้อสมาร์ทโฟน และมีแรงเสริมการใช้จ่ายและการลงทุนด้านการให้บริการทางด้านไอที ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ และสตอเรจ
นายไมเคิลยังกล่าวอีกด้วยว่า “ในตอนนี้เรามีความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 แล้ว แต่ปริมาณการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้จะมีมากเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ในการปรับใช้ในธุรกิจ ความพร้อมของบุคลากรด้านไอที และการสนับสนุนจากเวนเดอร์และผู้ให้บริการต่างๆ เนื่องจากทุกวันนี้ ต้นทุนไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจอีกต่อไป เราได้เห็นตัวอย่างมากมายแล้วว่า หากเรานำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วละก็ ต้นทุนในการปฏิบัติงานก็จะลดลงไปเอง” 10 แนวโน้มสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในภาคธุรกิจและภาคเทคโนโลยีของประเทศไทยในปี 2558 มีดังต่อไปนี้
1. อัตราการเติบโตของการใช้จ่ายด้าน ไอทีในประเทศไทยจะดีดตัวกลับขึ้นไปอยู่ที่ 10.6%การลงทุนด้านไอซีทีที่ถูกจำกัดไว้เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง จะช่วยกระตุ้นใช้จ่ายด้านไอทีให้มีการเติบโตที่สูงถึง 10.6% เมื่อเทียบกับปี 2557 แม้ว่าภาพรวมของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจะยังไม่สดใสมากนัก โดยตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากที่สุด สืบเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคจับจ่ายซื้อสมาร์ทโฟน ส่วนตลาดที่มีแนวโน้มจะขยายตัวได้สูงรองลงมา ได้แก่ ตลาดการให้บริการทางด้านไอที (การบริการซัพพอร์ทและการบริหารจัดการการปฏิบัติงาน) ตลาดผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ในกลุ่มคลาวด์และเวอร์ชวลไลเซชัน และตลาดสตอเรจ
2. การใช้งานดาต้าจะผลักดันให้อัตราการเติบโตของการใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมสูงถึง 14%ไอดีซีคาดว่าการใช้จ่ายทางด้านการบริการโทรคมนาคมในปี 2558 จะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ ระดับ14.5% ไม่ว่าจะมีบริการ 4G หรือไม่ โดยการใช้งานดาต้าจะเป็นตัวกระตุ้นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานดาต้าเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และผ่านไฟเบอร์บรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น หรือการใช้งานไอพี วีพีเอ็นระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากการที่ภาคธุรกิจไทยขยายตัวไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม ซึ่งการที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมไทยได้นำเสนอแพคเกจการใช้งานดาต้าที่หลากหลายก็มีส่วนทำให้การใช้งานดาต้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
3. กว่าครึ่งของ 100 บริษัทชั้นนำของไทยจะเริ่มวางกลยุทธ์ “โมบายล์เฟิร์ส”ไอดีซีคาดการณ์ว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะมีจำนวนเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในปี 2558 ซึ่งจะทำให้บริษัทชั้นนำได้ตระหนักถึงโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้าผ่านสมาร์ทโฟน โดยบริษัทเหล่านี้จะใช้กลยุทธ์แบบ “โมบายล์เฟิร์ส” คือการนำสมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญในการติดต่อและเข้าถึงลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเว็บไซต์ที่เอื้อต่อการแสดงผลบนสมาร์ทโฟน วิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่ ช่องทางการจำหน่ายสินค้าใหม่ๆ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไอดีซีเชื่อว่าอย่างน้อย 50% ของ 100 บริษัทชั้นนำของไทยจะมีการวางกลยุทธ์แบบโมบายล์เฟิร์สภายในปี 2558
4. ออมนิชานแนลจะเปลี่ยนโฉมพฤติกรรมการซื้อเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสื่อไทยความนิยมของการใช้ ออมนิชานแนล ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างช่องทางแบบออฟไลน์และออนไลน์ และการนำเทคโนโลยีอนาไลติกส์มาปรับใช้ ที่มากขึ้นนั้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อเทคโนโลยีของบริษัทในไทย โดยผู้บริหารฝ่ายการตลาดจะมีบทบาทในการตัดสินใจด้านเทคโนโลยีขององค์กรมากขึ้น ความแพร่หลายของออมนิชานแนลยังส่งผลให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมสื่อมีความต้องการด้านไอทีเพิ่มสูงขึ้น ดังเห็นได้จากการที่มีเดียเอเจนซีได้เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองไปเน้นธุรกิจด้านการให้คำปรึกษาด้านมีเดียและการสื่อสารถึงลูกค้า แทนที่จะใช้สื่อกระแสหลักแบบเดิมๆ ไอดีซีเชื่อว่ามีเดียเอเจนซีจะใช้เทคโนโลยีอนาไลติกส์ขั้นสูงอย่างเข้มข้น เพื่อสื่อถึงเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
5. ปัญหาด้านความปลอดภัยจะสร้างความวิตกกังวลมากขึ้น ทว่าบริษัทไทยนี้จะยังคงใช้แค่เทคโนโลยีเอ็มดีเอ็มเท่านั้นในปี 2558 นั้นเราจะเห็นเหตุการณ์การรั่วไหลของข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้องค์กรต่างๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ใหม่ๆ เช่นสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยเทคโนโลยีการจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือเอ็มดีเอ็มนั้น ถูกมองว่าเป็นก้าวแรกของการรักษาความปลอดภัยให้แก่อุปกรณ์เหล่านี้ แต่ไอดีคาดการณ์ว่า การที่องค์กรไทยยังคงมองไม่เห็นผลตอบแทนจากลงทุนด้านโมบิลิตี้ จะทำให้การวางกลยุทธ์โมบิลิตี้ในขั้นต่อไปเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และสุดท้ายก็ยังคงไม่สามารถก้าวผ่านขั้นการจัดการอุปกรณ์ได้
6. เราจะตื่นเต้นกับอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ แต่ยังคงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่างอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือไอโอที จะสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ในไทย โดยในปี 2558 จะมีหลายองค์กรที่เริ่มพิจารณาถึงโอกาสถึงการใช้ไอโอที แต่จะพบว่าตนเองยังไม่มีความพร้อมในด้านนี้มากนัก โดยปัญหาหลักจะมาจากการขาดกรณีศึกษาในการนำไปใช้จริง การขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญเรื่องไอโอที และความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย ไอดีซีเชื่อว่าเราจะค่อยๆ เริ่มเห็นการใช้ไอโอทีในระดับที่จำกัด ซึ่งมีแนวโน้มจะเริ่มด้วยการใช้อุปกรณ์สวมใส่ เช่น สายรัดข้อมือหรือแว่นตาอัจฉริยะ เป็นต้น
7. เหล่าผู้ริเริ่มใช้บิ๊กดาต้าจำต้องหันกลับมาทบทวนกลยุทธ์ใหม่อีกครั้ง หลายต่อหลายองค์การในภาคโทรคมนาคม ค้าปลีก และการธนาคารได้เริ่มมีการปูทางไปสู่การนำบิ๊กดาต้าไปใช้ประโยชน์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มใช้เทคโนโลยีดาต้าเวอร์ชวลไลเซชัน ดาต้าวิชวลไลเซชัน หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีฮาดูป แต่กลับพบว่าปัญหาสำคัญคือดาต้าที่ใช้นั้นมีความแม่นยำและความน่าเชื่อถือในระดับต่ำ จนไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ นั่นทำให้องค์กรเหล่านี้ต้องกลับมาตั้งต้นใหม่ โดยเริ่มจากการปรับแก้กลยุทธ์ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างดาต้า การจัดเก็บและจัดการดาต้า ก่อนที่จะนำดาต้าไปผ่านกระบวนการวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
8. เทคโนโลยีระบบบริหารทรัพยากร (อีอาร์พี) จะถูกเสริมกำลังด้วยแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3เวนเดอร์และผู้ให้บริการระบบบริหารทรัพยากรหรืออีอาร์พี จะยกเครื่องโซลูชันอีอาร์พีด้วยการนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 ทั้งคลาวด์ โมบิลิตี้ บิ๊กดาต้า และโซเชียล มาประกอบเข้ากับระบบอีอาร์พีแบบเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้งานได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของการลดต้นทุน การเพิ่มผลิตภาพ และการสร้างประสบการณ์การซื้อ/การใช้งานที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า โดยการที่เวนเดอร์และผู้ให้บริการได้ยกระดับการแข่งขันและพัฒนาโซลูชันอีอาร์พีใหม่ๆ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอีอาร์พีจากองค์กรให้ภาคอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะเริ่มจะปี 2558 นี้
9. ผู้ให้บริการคลาวด์ในระดับโลกจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบคลาวด์ภายในประเทศไทยไอดีซีคาดการณ์ว่า ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกจะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยมากขั้นอย่างเห็นได้ชัด และนั่นจะทำให้องค์กรต่างๆ ในไทยมีความมั่นในในการใช้คลาวด์มากขึ้น และลดความกังวลในเรื่องของการปฏิบัติตามข้อบังคับ ความปลอดภัย และคุณภาพของการให้บริการคลาวด์ลง โดยความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลให้องค์การที่ได้เริ่มใช้ไพรเวตคลาวด์แล้ว เริ่มเปิดใช้บริการคลาวด์สาธารณะหรือพับบลิคคลาวด์ จนนำไปสู่การงานใช้ไฮบริดคลาวด์ และการทำคลาวด์ออเคสเตรชันในที่สุด ไอดีซีเชื่อว่าเราจะได้เห็นการเติบโตในตลาดการให้บริการด้านคลาวด์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป
10. สถาบันการเงินไทยจะเริ่มชดเชยเวลาที่หายไปโดยการใช้คลาวด์ที่เข้มข้นระดับการใช้งานด้านคลาวด์ของสถาบันการเงินไทยถือได้ว่าสูงกว่าประเทศอื่น ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และกำลังสร้างทั้งมาตรฐานและวิถีปฏิบัติที่ดีที่สุดในกับประเทศอื่นๆ หลังจากได้รับการอนุมัติด้านการปฏิบัติตามกฏและข้อบังคับเกี่ยวกับการรักษาความลับของข้อมูลลูกค้า รวมถึงการป้องกันข้อมูลและความปลอดภัยแล้วนั้น สถาบันการเงินไทยเริ่มมีการยกเวิร์คโหลดสำคัญต่างๆ ไปวางไว้บนคลาวด์ ซึ่งเวิร์คโหลดเหล่านี้มีทั้งส่วนที่เป็นอีเมล การจัดการกฏต่างๆ ระบบการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (ซีอาร์เอ็ม) และรวมไปถึงแม้กระทั่งระบบสำคัญๆ อย่างระบบคอร์แบงค์กิ้ง ดังนั้นในปี 2558 ไอดีซีเชื่อว่าสถาบันการเงินในประเทศไทยจะสามารถลดต้นทุนเฉลี่ยในการปฏิบัติงานให้เหลือเพียงแค่ 40% ของรายได้ซึ่งมีปัจจัยหลักจากการใช้งานคลาวด์
ไอดีซีมองว่าภาคธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคการธนาคารและการประกัน ภาคการค้าปลีก และภาคการผลิต จะเป็นผู้ลงทุนด้านไอทีหลักในปี 2558 และเป็นผู้นำในการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะทำให้ตลาดไอซีทีไทยลดการพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐลงได้
“เราได้เห็นถึงโครงการที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าประทับใจ ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจนั้นมีความตั้งใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือการริเริ่มนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้งานในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโมบายล์เฟิร์ส ออมนิชานแนล การรักษาความปลอดภัยแบบใหม่ อินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ และคลาวด์คอมพิวติ้งในรูปแบบต่างๆ" นายไมเคิลสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit