TAJA SEMINAR CEO TALK 2015

04 Dec 2014
สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) จัดงานสัมมนาในหัวข้อ "CEO TALK 2015 : จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย" ระดมความเห็นจากผู้บริหารภาครัฐและเอกชน รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมสนับสนุนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี อย่างเต็มรูปแบบ

ด้าน รมต.กระทรวงอุตฯ "จักรมณฑ์" ชี้ชัดการเมืองนิ่ง โครงการรถคันแรกจบถาวร ดันตลาดรวมปรับตัวดีขึ้น เชื่อปี 2558 ยอดผลิต 2.2 ล้านคัน เตรียมบังคับใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ในปี 2559 เผยกระทรวงฯ เตรียมเปิดระบบข้อมูลรถยนต์ภายใน 1 ปี หวังผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม ค่ายรถเพิ่มการพัฒนาเพื่อแข่งขัน พร้อมเร่งหาโปรดักท์แชมเปี้ยนตัวใหม่ ทางภาคเอกชนมั่นใจปีหน้ายอดขายโตแน่นอน พร้อมเล็งใช้ประโยชน์จากเออีซี. ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม หวังรวมตัวกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเพิ่มศักยภาพหนีคู่แข่งอินโดนีเซีย

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เติบโตมาโดยตลอด ทำให้ปัจจุบันไทยมีความสามารถในการผลิตรถทุกโรงงานร่วมกันถึง 2.8 ล้านคัน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้การผลิตได้เต็มที่ หลังจากที่ตลาดถดถอย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จีพีดีภาคอุตสาหกรรมติดลบ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นมีผล 10% ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ทั้งนี้การผลิตในปีนี้ คาดว่าจจะทำได้ 1.95 ล้านคัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากตลาดในประเทศถดถอย อย่างไรก็ตามยังมีตัวช่วยคือการส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์ดีคือ 1.1 ล้านคัน

"อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าขณะนี้อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากไทยมีเสถียรภาพทางการเมือง และโครงการรถคันแรกจบลงอย่างถาวร"

นายจักรมณฑ์กล่าวถึงโครงสร้างใหม่ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2559 ว่า จะผลักดันให้มีการพัฒนาขึ้นไปอีกมาก และเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมและประเทศ เพราะทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าให้สอดรับกับโครงสร้างภาษีที่เน้นให้เกิดการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยมลพิษนอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของความปลอดภัยที่ผู้ผลิตต้องพัฒนาตามข้อกำหนดของโครงสร้างภาษีใหม่อีกด้วย

ขณะที่กระทรวงก็ได้จัดทำระบบข้อมูลรถยนต์แบบเดียวกับต่างประเทศและจะนำมาใช้ในปี 2558 เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับตัวรถ ก่อนตัดสินใจซื้อ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังมีความท้าทายจากการแข่งขันของต่างชาติ ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนา และอาจจะต้องหาสินค้าสำหรับขยายตลาดในอนาคต ที่จะต้องเหนือกว่า อีโค คาร์ รุ่น 2 ที่ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ อนุมัติแล้ว 9 ค่าย เหลือรอการยื่นรายละเอียดของโฟล์กสวาเกนอีกเพียงค่ายเดียว ทั้งนี้รถที่จะมาเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่ อาจจะเป็นไฮบริด หรือว่า รถพลังงานไฟฟ้า ก็เป็นได้เช่นกัน

ด้านนายองอาจ พงษ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากหลายประเทศพยายามที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น อินโดนีเซีย ตั้งเป้าผลิตให้ได้ 1.6 ล้านคันในปีหน้า และ 4.2 ล้านคันในปี 2568

ขณะที่มาเลเซียบอกว่า จะไม่มีการสนับสนุนรถยนต์แห่งชาติ และหันไปสนับสนุนด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยยืนยันว่าการลงทุนแล้ว 1 ราย แม้จะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดก็ตาม และตั้งเป้าว่าปี 2563 จะผลิตให้ได้ 1.25 ล้านคัน ขณะที่ประเทศเล็กๆ เช่น กัมพูชา ก็มีการเข้าไปลงทุนอุตสาหรรมรถบรรทุกจากจีนแล้วเช่นกัน ดังนั้นไทยก็จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน และพยายามใช้โอกาสหลังเปิดเออีซี ที่ประเทศกลุ่ม ซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เป็น 0% ในการขยายตลาด

และที่สำคัญไทยควรใช้ความแข็งแกร่ง คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วน ผลักดันให้เป็นศูนย์การผลิตชิ้นส่วนยอดเยี่ยมของโลก นอกจากนี้ก็ควรจะพัฒนาในส่วนประกอบอื่น เช่น การทดสอบสินค้า และโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้มากขึ้น เช่น ท่าเรือ การขนส่ง รวมถึงการวิจัยและพัฒนาที่ยังมีอยู่น้อยมาก

ขณะที่ นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดกล่าวว่า ปีนี้่คาดว่าตลาดรถยนต์ไทยจะทำได้เต็มที่ไม่เกิน 9 แสนคัน ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ทำได้กว่า 1.3 ล้านคัน ซึ่งอยู่ในภาวะที่รับได้ หากคำนวณการเติบโตแบบปกติในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีการกระตุ้นที่บิดเบือน ส่วนปีหน้าเชื่อว่าจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ และอนาคตน่าจะขึ้นไปได้ถึง 1.5 ล้านคันอย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะต้องมองโอกาสในการขยายตัวในอนาคต เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขันโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน หลังจากที่เพื่อนบ้านพยายามยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นมาทั้งนี้เห็นว่าสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ การเกิดขึ้นของเออีซี ซึ่งนอกจากจะทำให้การค้าขายชายแดนขยายตัว กำลังซื้อต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นแล้ว ตลาดเพื่อนบ้านก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเห็นว่าไทยควรที่จะเข้าไปสร้างโอกาสในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงให้มากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์

"อินโดนีเซียพยายามที่จะแข่งกับไทย มีข้อได้เปรียบคือประชากรกว่า 200 ล้านคน แต่ถ้าไทยร่วมมือกับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะลุุ่มน้ำโขง ทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ก็จะมีประชากรที่ไม่แพ้เช่นกันอีกทั้งช่วงนี้ประเทศต่างๆเหล่านี้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ที่น่าสนใจ"

ด้านค่ายนิสสัน นายประพัฒน์ เชยชม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปิดเออีซี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนิสสันจับตาดูมาหลายปี และเห็นถึงพัฒนาการของตลาดรถยนต์ เช่น พม่า ที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการโดยเห็นว่าการเข้าไปลงทุนในบางประเทศ ยังมีข้อจำกัด เช่น การใช้พวงมาลัยซ้าย และตลาดยังเล็ก ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนิสสันจึงได้ตัดสินใจลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท สร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ในไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกไปยังเพื่อนบ้านแทน

"การเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นต้องใช้เวลา ดังนั้นใช้ไทยดีกว่า แต่เออีซี ก็จะมีผลดีคือ ในอนาคตจะสามารถใช้แรงงานจากเพื่อนบ้านแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานหรือปัญหาค่าแรงสูงใน ไทยได้" และปิดท้ายการปาฐกถาในครั้งนี้ โดยนางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทิศทางของรถยนต์ในอนาคต จะมี 3 แนวทางหลัก คือ ไฮบริด ที่มีจุดเด่นทั้งความแรงและประหยัด เทคโนโลยี คลีนดีเซล ที่แพร่หลายแล้วในหลายประเทศ และรถไฟฟ้าแต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของสาธารณูปโภครองรับส่วนทิศทางของอุตสาหกรรม เห็นว่าภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญมาก และอนาคตต่างจังหวัดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามช่วงนี้มีปัญหาใหญ่คือสินค้าหลักที่มีบทบาทในเวทีโลก คือ ข้าวและยางพารา กำลังมีราคาที่ถดถอยอย่างรุนแรง

และทั้งหมดนี้คือ ความเห็นจากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่มองถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2558 ที่จะถึงนี้รวมไปถึงอนาคตอีกต่อไป พบกับกิจกรรมต่างๆ สำหรับสมาชิกสมาคมฯ ได้ในปี 2558 และสามารถติดตามข่าวสารของสมาคมฯ ได้ที่ www.tajathailand.com ซึ่งคณะกรรมการเปิดขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในสื่อของสมาคมฯ ให้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างสมาชิกของสมาคมฯ และคนรักยานยนต์ทั่วประเทศ