ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์ SMEs ของภาคอีสาน ปลายปี 2557 และประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-24 พฤศจิกายน 2557 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ SMEs สาขาการผลิต จำนวน 606 ราย ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดใหญ่ภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และอุบลราชธานี
เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เกี่ยวกับสถานการณ์ SMEs ในช่วงปลายปีว่าผลประกอบการธุรกิจในช่วงไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ปี 2557 เป็นอย่างไร อันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.6 เห็นว่าผลประกอบการมีกำไรเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 39.3 ยังเท่าทุนหรือเสมอตัว ร้อยละ 10.2 ขาดทุนเล็กน้อย ร้อยละ 5.6 ได้กำไรมาก และร้อยละ 3.3 ขาดทุนมาก ส่วนผลประกอบการธุรกิจในช่วงไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ปี 2557 อันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.9 เห็นว่าผลประกอบการมีกำไรเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 35.3 เห็นว่าผลประกอบการยังเท่าทุนหรือเสมอตัว ร้อยละ 7.3 มีกำไรมาก ร้อยละ 6.9 ขาดทุนเล็กน้อย และร้อยละ 2.6 ขาดทุนมาก
สำหรับผลประกอบการธุรกิจปีหน้า (2558) กลุ่มผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 46.4 คาดการณ์ว่าผลประกอบการน่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 37.5 คาดว่าจะเท่าทุนหรือเสมอตัว ร้อยละ 9.6 คาดว่าจะมีกำไรมาก ร้อยละ 4.6 คาดว่าจะขาดทุนเล็กน้อย มีเพียงร้อยละ 2.0 ที่คาดว่าจะขาดทุนมาก
ดังนั้น สถานการณ์ของ SMEs สาขาการผลิตในอีสานจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในไตรมาส 4/2557 และในปี 2558 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในไตรมาส 3/2557 เนื่องจากคาดการณ์ว่าสัดส่วนของผู้ประกอบที่ขาดทุนจะลดลง (13.5% ลดเหลือ 6.6%) ขณะเดียวกันสัดส่วนของผู้ประกอบที่มีกำไรจะเพิ่มมากขึ้น (47.2% เพิ่มเป็น 56.0%)
เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้มงวดกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมาส่งผลต่อผลประกอบการการธุรกิจอย่างไร กลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 80.4 เห็นว่ากำไรยังคงเท่าเดิม ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด รองลงมาร้อยละ 13.9 เห็นว่ากำไรลดลงแต่ยังมีกำไร ร้อยละ 4.0 เห็นว่ากำไรลดลงและขาดทุนเล็กน้อย ร้อยละ 1.0 เห็นว่ากำไรเพิ่มขึ้น และร้อยละ 0.8 เห็นว่ากำไรลดลงและขาดทุนอย่างมาก ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% ช่วยให้ธุรกิจของผู้ประกอบการเสียภาษีมากน้อยเพียงใด กว่าร้อยละ 79.2 เห็นว่าการจ่ายภาษียังคงเท่าเดิม รองลงมาร้อยละ 16.5 เห็นว่าการจ่ายภาษีลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 3.8 เห็นว่าการจ่ายภาษีลดลงมาก และร้อยละ 0.5 จ่ายภาษีเพิ่มขึ้น
อีสานโพลได้สอบถามต่อว่าหากราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้นอีก 3บาท/ลิตร หรือ 10% จะกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 56.6 เห็นว่ากำไรจะลดลงแต่ยังมีกำไร รองลงมาร้อยละ 15.7 คาดว่าจะกำไรลดลงและขาดทุนเล็กน้อย ร้อยละ 14.4 คาดว่ากำไรจะเท่าเดิม ร้อยละ 13.2 คาดว่าจะกำไรลดลงและขาดทุนอย่างมาก มีเพียงร้อยละ 0.2 ที่คาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบต่อ SMEs การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลควรปรับให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเป็นแบบรายไตรมาสหรือรายเดือน ซึ่งหากปรับราคาแบบรายวันจะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กทำธุรกิจลำบากยากขึ้น
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 4 บาท หากขึ้นอีกหน่วยละ 40 สตางค์ หรือ 10% ผลประกอบการธุรกิจจะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 58.9 เห็นว่ากำไรจะลดลงแต่ยังมีกำไร รองลงมาร้อยละ 15.8 คาดว่าจะกำไรลดลงและขาดทุนเล็กน้อย ร้อยละ 13.2 คาดว่าจะกำไรลดลงและขาดทุนอย่างมาก และอีกร้อยละ 12.0 คาดว่ากำไรจะเท่าเดิม
เมื่อสอบถามว่าหากยกเลิกกฎอัยการศึกจะช่วยให้ผลประกอบการธุรกิจของท่านดีขึ้นหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 57.6 เห็นว่าไม่มีผลต่อธุรกิจ รองลงมาร้อยละ 34.8 เห็นว่าช่วยได้เล็กน้อย มีเพียงร้อยละ 7.6 ที่เห็นว่าช่วยได้มาก สำหรับความต้องการความช่วยเหลือเรื่องเงินหมุนเวียน (สภาพคล่อง) จากภาครัฐ กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 72.7 บอกว่าไม่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องเงินหมุนเวียน มีเพียงร้อยละ 27.3 ที่ต้องการความช่วยเหลือการยกเลิกกฎอัยการศึกต่อผลประกอบการธุรกิจ
ส่วนความต้องการให้ภาครัฐส่งที่ปรึกษาธุรกิจมาช่วยให้คำแนะนำด้านธุรกิจ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 63.9 บอกว่าไม่ต้องการที่ปรึกษา ร้อยละ 29.0 บอกว่าต้องการ มีเพียงร้อยละ 7.1 ที่บอกว่าต้องการอย่างยิ่ง สำหรับความจำเป็นเกี่ยวกับโครงการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 65.3 เห็นว่าไม่มีความจำเป็น รองลงมาร้อยละ 28.7 เห็นว่ามีความจำเป็น มีเพียงร้อยละ 5.9 ที่เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ความช่วยเหลือ 10 ประการแรกที่ SMEs ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือได้แก่ ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ การควบคุมราคาสินค้าวัตุดิบการผลิต การลดต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน การช่วยเหลือด้านแหล่งเงินกู้ ส่งเสริมตลาด SMES ช่วยบรรเทาค่าแรงงานที่สูง ช่วยทำให้บ้านเมืองสงบสุข ดูแลราคาแก๊สหุงต้ม ดูแลค่าขนส่ง และค่าเช่าพื้นที่
ท้ายสุดอีสานโพลได้สอบถามว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ท่านประเมินการให้บริการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 47.5 เห็นว่าพอใช้ รองลงมาร้อยละ 28.4 เห็นว่าให้บริการดี ร้อยละ 17.7 เห็นว่าให้บริการแย่ ร้อยละ 5.0 เห็นว่าบริการแย่มาก มีเพียงร้อยละ 1.3 ที่เห็นว่าให้บริการดีมาก ส่วนการประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 46.2 เห็นว่าผลงานอยู่ในระดับพอใช้ รองลงมาร้อยละ 28.1 เห็นว่าอยู่ในระดับดี ร้อยละ 18.8 เห็นว่าอยู่ในระดับแย่ ร้อยละ 5.6 เห็นว่าอยู่ในระดับแย่มาก และร้อยละ 1.3 เห็นว่าอยู่ในระดับดีมาก
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็น ของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit