ทั้งนี้ ภายใต้สโลแกน “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย” ตลาดเกษตรกรจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้พบปะกับผู้บริโภคโดยตรง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต ให้สินค้ามีคุณลักษณะและปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ในขณะที่ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในคุณภาพ และความปลอดภัย ของสินค้า ส่งผลให้เกษตรกรสามารถช่วยเหลือตนเองได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นวิถีดำเนินการที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่เกษตรกรในการผลิตสินค้าเกษตรที่ดี และเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้
ทางด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนเรื่องดังกล่าวผ่านตลาดชุมชนในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่เนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่ในชุมชนซึ่งเป็นแหล่งผลิต ทำให้กลุ่มผู้บริโภคถูกจำกัดอยู่แต่ในชุมชนนั้นด้วย สถานที่ที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมากจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์อันจะตามมา ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะจัดตลาดเกษตรกรในชุนเมือง จึงเป็นโอกาสอันดีที่เกษตรกรจะได้มีพื้นที่ ในการจำหน่ายผลผลิตแก่ผู้บริโภคโดยตรงในระดับที่กว้างขึ้นต่อไป โดยตลาดเกษตรกรกำหนดให้จัดขึ้นในทุกจังหวัด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยให้มีวันศุกร์เป็นหลัก สำหรับสถานที่ตั้งจะอยู่ในตัวเมืองของจังหวัด ใกล้แหล่งชุมชน มีการคมนาคมสะดวก โดยไม่มีการเก็บค่าที่ ส่วนสินค้าที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายเป็นสินค้าเกษตรทั้งสดและแปรรูป รวมถึงสินค้าประมง ปศุสัตว์ ที่มีความหลากหลาย เป็นผลผลิต/สินค้าเกษตรที่เกษตรกรในพื้นที่เป็นผู้ผลิตด้วยกระบวนการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบได้
สำหรับตลาดเกษตรกรที่จังหวัดนครนายก จะได้พบกับผักไฮโดรโปรนิกส์ ผักและผักพื้นบ้าน (ดอกชมจันทร์ ผักชีล้อม ผักบุ้งนา ผักกระเฉดผักกูด ใบชะพลู ชะอม มันปู ชะมวง หูเสือ มะเขือพวง สะเดา ฟักข้าว เผือก แก่นตะวัน ถั่วพู ฯลฯ) มะพร้าวน้ำหอม กล้วยเล็บมือนาง ผลไม้แช่อิ่ม ข้าวซ้อมมือ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวต้มลูกโยน และข้าวหมาก ฯลฯซึ่งผลผลิตดังกล่าวผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าที่ดี และมีความปลอดภัย เพราะมีการสุ่มตรวจวัดสารตกค้างในผลผลิตและติดประกาศในวันจำหน่ายทุกครั้งจากหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัด
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปถึงความยั่งยืนของตลาดเกษตรกรว่า เกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกให้มาจำหน่ายสินค้าในตลาด จะต้องรวมกลุ่มกันตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการตลาดร่วมกัน มีการประชุมหาแนวทางปรับปรุงพัฒนาตลาดทุกครั้งภายหลังสิ้นสุดการจำหน่าย ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยง คอยประสานให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น เพื่อก้าวไปสู่ตลาดถาวรอย่างยั่งยืน ให้ทุกจังหวัดมีสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ที่สำคัญผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัย