นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่า
การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงว่า เนื่องจากขณะนี้
ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้
ราคายางสังเคราะห์รวมทั้งยาง
ธรรมชาติ มีราคาลดต่ำลง ประกอบกับราคา
สินค้าเกษตรในตลาดโลกก็ลดลงด้วย จึงส่งผลกระทบต่อราคายางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในการแก้ไข
ปัญหายางพาราทั้งระบบนั้น ขณะนี้ได้มี
การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวม 16 มาตรการ ได้แก่ 1) โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 2) โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (รายละ 15,000 บาท) 3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม (รายละไม่เกิน 100,000 บาท) 4) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง 5) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อใช้ในการรวบรวมยาง 6) โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา 5,000ล้านบาท 7) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 15,000 ล้านบาท 8) โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา 9) โครงการจัดหาตลาดใหม่เพื่อส่งออกยางพารา 10) โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ/โครงการสนับสนุนผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ยาง 11) โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 12) โครงการควบคุมปริมาณการผลิต 13) โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 14) โครงการลดต้นทุนการผลิต 15) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตยาง และ 16) โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ระยะสั้น สนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรไร่ละ 2,520 บาท
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท นั้น ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางโดยเร็ว สำหรับโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง จะเร่งติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อให้มีการซื้อยางพาราและระบายออกสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งจะมีกลไกการเพิ่มกำลังซื้อให้มากขึ้น โดยจะขอความร่วมมือจากสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อให้รับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น และประการที่สำคัญจะเร่งรัดและผลักดันกลไกการดำเนินงานในระดับจังหวัดให้รวดเร็ว เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนโครงการตามมาตรการดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น