นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึงนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมกิจกรรมพลังงานชุมชน เพื่อพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และตอบสนองต่อการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในระดับชุมชนทั่วประเทศ โดยจะร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครพลังงาชุมชน (อสพน.) จัดทำแผนพลังงานชุมชนที่ต้องสอดคล้องกับศักยภาพของชุมชนแต่ละแห่ง ซึ่งกระทรวงพลังงานได้กำหนดทิศทางไว้ 4 แผนงานหลัก ได้แก่แผนงานที่ 1 โครงการ “ชุมชนประหยัดพลังงานไฟฟ้า” เพื่อสร้างความรู้และจิตสำนึกในการใช้พลังงาน โดยจะดำเนินกิจกรรมผ่านเครือข่ายอาสาสมัครพลังงาน เพื่อตั้งเป้าหมายลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนต้นแบบให้ได้อย่างน้อย15% ใน 76 ชุมชนต้นแบบนำร่องทั่วประเทศ แผนงานที่ 2 โครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนขนาดจิ๋ว (OTOP) ลดใช้พลังงาน เน้นสำรวจกลุ่มวิสาหกิจที่ใช้พลังงานสิ้นเปลือง ในขบวนการทอด นึ่ง อบแห้ง คั่ว ต้ม กลั่น และจะแก้ไขโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อปรับใช้แทน ตั้งเป้าหมายประหยัดพลังงานในกลุ่มOTOP ดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 30 – 70%
แผนงานที่ 3 โครงการชุมชนศึกษาศักยภาพผลิตพลังงาน ประเภทชีวภาพ ชีวมวล น้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้า จะเน้นการสร้างทีมนักสำรวจ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จากภาคประชาชนให้สามารถทำรายงานผลการศึกษาเบื้องต้น รวมทั้งจะต่อยอดไปสู่การขอทุนสนับสนุนหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนเพื่อผลิตพลังงานในท้องถิ่น และแผนงานที่ 4 การฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพนักวางแผนระดับจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะเน้นหลักสูตรการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในชุมชน เรียนรู้ขบวนการตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบโซล่าร์เซลล์ การต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ต่างๆ การติดตั้ง และการใช้จริงในพื้นที่
นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มว่า ตัวอย่างแผนพลังงานชุมชนที่เป็นรูปธรรม และถือว่าเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาก๊าซหุงต้มปรับตัวเพิ่มขึ้นนี้ ได้แก่ที่ชุมชนบ้านบึงหล่ม ต.คลองน้ำไหล จ.กำแพงเพชร ซึ่งได้ขยายผลการใช้เตาเศรษฐกิจและหม้อน้ำซุปร้านก๋วยเตี๋ยว โดยชุมชนได้ใช้ฟืนและถ่าน ซึ่งหาได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่ เช่น ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง กะลามะพร้าว เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม(LPG) ได้ทั้งหมด 100%
โดยปัจจุบันหลังจากใช้เตาเศรษฐกิจจากเชื้อเพลิงที่หาได้ท้องถิ่นนี้ ส่งผลให้ชุมชนบ้านบึงหล่มกว่า 100 ครัวเรือน ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้เฉลี่ย 50 – 60% คิดเป็นเงินที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 200 บาทต่อเดือน และหากเทียบเป็นการประหยัดการใช้ก๊าซหุงต้ม คำนวนที่ถังขนาดมาตรฐาน 15 กิโลกรัม จำนวน 50 ถังต่อเดือน คิดเป็นเงินที่ชาวบ้านในชุมชนนี้ประหยัดได้รวมกันมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และจากมาตรการนี้ที่ได้ดำเนินการมากกว่า 2 ปี ซึ่งเท่ากับว่าชุมชนบ้านบึงหล่ม จ.กำแพงเพชร ได้ช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานเพียงพื้นที่เดียวได้สูงถึง 480,000 บาท
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit