ไอดีซี ประเทศไทย: ปี 2558 ปีแห่งการขับเคี่ยวดุเดือดของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในบ้านเรา - เศรษฐกิจดิจิตอลจะสร้างรายได้สูงถึงร้อยละ 30 ให้กับ GNP ในปี 2563

12 Dec 2014
ความพร้อมในเรื่องอินเตอร์เน็ตและจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นจากประชากรทั้งหมด จะสนับสนุนให้ประเทศไทยพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล โดย ไอดีซี ประเทศไทย

เป็นที่เชื่อได้ว่า แผนแม่บทของเศรษฐกิจดิจิตอลกำลังเปิดโอกาสที่จะเป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ให้กับผู้ให้บริการต่าง ๆ เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านดิจิตอลคอนเท้นต์ ไม่ว่า ดิจิตอลเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เกมส์ออนไลน์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบต่าง ๆ (xCommerce) และ อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด

ไอดีซี เชื่อว่าหากแผนแม่บทดำเนินไปอย่างประสบผลสำเร็จ เศรษฐกิจดิจิตอลจะสามารถสร้างรายได้มากถึงร้อยละ 30 ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ในปี 2563

ไอดีซี มองว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในบ้านเรา

การแข่งขันอันดุเดือดนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะสิ่งนี้ท้ายที่สุดแล้วอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยได้เลื่อนอันดับขึ้น ในเรื่องการพัฒนาเมื่อเทียบกับตลาดไอซีทีในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก บทวิเคราะห์ตลาดดังกล่าวมีรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ใน IDC Thailand's Top Ten Predictions 2015 ของอุตสาหกรรม ไอซีที

นางสาวนีรนุช กนกวิไลรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านโทรคมนาคม ของ ไอดีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “ภาคธุรกิจโทรคมนาคมของไทยถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีในเรื่องการแข่งขัน เพราะมันได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายหลายด้าน รวมถึงการดึงเงินลงทุนใหม่ ๆ จากผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่างชาติอีกด้วย”

จากผลสำรวจของนีรนุช อย่างเช่น เทคโนโลยี FTTx ของผู้ให้บริการยี่ห้อต่าง ๆ ในบ้านเรากำลังเริ่มที่จะเปิดศึกแข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง ด้วยการนำเสนอแพคเกจราคาโดนใจให้แบนด์วิธสูง “นอกจากนี้ พื้นที่การให้บริการที่ขยายครอบคลุมในหลายพื้นที่ของ FTTx ยังมีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตประเภทสายของไทยในอีก 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย”

ไอดีซี มองว่า แม้ว่าเทคโนโลยี FTTx กำลังเป็นที่สนใจและมีความต้องการใช้งานจากผู้ใช้งานมากขึ้น แต่ทว่า เทคโนโลยี xDSL ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 70 จากจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประเภทสายทั้งหมด

คาดว่าการเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการ 4G ที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ ความเร็วในการรับส่งข้อมูล และค่าบริการที่มีแนวโน้มถูกลงสำหรับการบริการโทรคมนาคมของผู้ใช้งานได้

แนวโน้มที่เป็นข่าวดีสำหรับภาคธุรกิจโทรคมนาคมของไทย คือคนไทยใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก อ้างอิงจาก ICT Development Index (IDI) ที่จัดทำโดย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU

นีรนุช ชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยทะยานแบบก้าวกระโดดโดยมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 297 ในเดือนกันยายนปี 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับกันยายน 2556

“ประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่ยังใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นหลักในเรื่อง โซเชียลมีเดีย เล่นเกมส์ผ่านมือถือ ไฟล์เพลง หรือ วีดีโอ อีเมล์และ ช็อปปิ้งออนไลน์ มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไอดีซี เห็นว่า การนำเสนอแพคเกจโมบายดาต้าควบไปกับการเชื่อมต่อโซเชียลมีเดียได้แบบไม่จำกัด ของผู้ให้บริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ และการใช้งานจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการติดต่อสื่อสารของสังคมบ้านเราในปัจจุบัน”