คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ได้เห็นชอบกรอบแนวการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558–2579 (PDP 2015) และกรอบแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สืบเนื่องจาก รัฐบาล (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนและให้มีภาระภาษีที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันต่างชนิดและผู้ใช้ต่างประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ และมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557เห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) โดยให้มีระยะเวลาของแผนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งให้มีการปรับปรุงแผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Development Plan: EEDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ให้มีกรอบระยะเวลาสิ้นสุดของแผนเช่นเดียวกับแผน PDP 2015
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรนี) ในฐานะประธาน กบง. ได้เปิดเผยว่า ในการประชุม กบง. วันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณากรอบแนวการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558–2579 (PDP 2015) และกรอบแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำเสนอต่อ กพช. ในการประชุมวันที่ 15 ธันวาคม 2557 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. กรอบแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558–2579 (PDP 2015)เพื่อให้การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหลักการในการจัดทำแผน PDP 2015 จะคำนึงถึง 1) ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า 2) ข้อจำกัดของระบบส่งไฟฟ้า เพื่อรองรับการรับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงาน 3) การกระจายเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม ลดสัดส่วนการพึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่ง และคำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้า 4) กำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ร้อยละ 15 ของปริมาณการผลิตที่พึ่งได้ 5) ส่งเสริมให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมต่อการจัดทำแผน PDP 2015 และ 6) กำหนดเป้าหมายลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณร้อยละ 20 จากปัจจุบัน
สำหรับกรอบและแนวทางการจัดทำแผน PDP 2015ประกอบด้วย 1) เน้นการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และภาคเกษตรกรรม 2) จัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตให้สอดคล้องกับการคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างอันจะส่งผลต่อการใช้พลังงาน 3) สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายการลดใช้พลังงานไฟฟ้าลง ร้อยละ 20 และลดการใช้เชื้อเพลิงลง ร้อยละ 80 และ 4) ปรับให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยมีเป้าหมายกำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 20 5) มีการวางแผนระบบส่งและระบบจำหน่ายเพื่อรองรับการส่งเสริมพลังงานทดแทน และ6) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ Smart grid เพื่อรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Generation: DG)2. กรอบและแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนจัดหา ให้มีอัตราภาษีสะท้อนการปล่อยมลภาวะ ทยอยลดการชดเชยข้ามประเภท (Cross Subsidy) และให้ทุกกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG ควรจะใช้ราคาตามต้นทุนจัดหาเฉลี่ย โดยให้มีการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย 1) การปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงให้ใกล้เคียงกัน โดยคำนึงถึงการปล่อยมลภาวะ 2) ทยอยลดการชดเชยข้ามประเภทเชื้อเพลิง (Cross Subsidy) และ 3) การกำหนดค่าการตลาด ให้สะท้อนกลไกตลาด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit