“คอมพาร์ทเมนต์” ความสำเร็จการป้องหวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีก โดย น.สพ.พยุงศักดิ์สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านบริการวิชาการ ซีพีเอฟ

09 Dec 2014
นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแนวหน้าซึ่งนานาชาติให้การยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้มแข็งที่สุดด้วยระบบ “คอมพาร์ทเมนต์” ทำให้ไทยปราศจากเชื้อไวรัสที่ระบาดในสัตว์ปีกและสามารถคร่าชีวิตผู้คนได้ แม้โรคระบาดชนิดนี้ยังคงแพร่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยแล้วระบบการจัดการและเฝ้าระวังที่เคร่งครัดเป็นหลักประกันอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค
“คอมพาร์ทเมนต์” ความสำเร็จการป้องหวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีก โดย น.สพ.พยุงศักดิ์สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านบริการวิชาการ ซีพีเอฟ

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1/12/57) หน่วยงานภาครัฐของเนเธอแลนด์ ได้มีคำสั่งทำลายสัตว์ปีกกว่า 50,000 ตัว หลังพบการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N8 ขณะเดียวกัน ในอีกซีกโลกหนึ่งฟาร์มไก่ไข่ที่เมืองคุตทนาด รัฐเคเรล่า (Kerala) ทางตอนใต้ของอินเดียทางการได้มีคำสั่งให้ทำลายเป็ดถึง 180,000 ตัว หลังจากที่มีเป็ดจำนวนกว่า 15,000 ตัว ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่ามีเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในซากสัตว์ที่ตายข่าวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่เนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่เน้นมาตรฐานความสะอาดในฟาร์มที่สุด ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อดังกล่าวได้

หันกลับมามองประเทศไทยพบว่าบ้านเราดำเนินการป้องกันไข้หวัดนก ด้วยระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบฟาร์มปิดหรือ ระบบ “คอมพาร์ทเม้นท์” (Compartment) เป็นระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่ลดโอกาสและความเสี่ยงการเกิดโรคโดยมีสัตว์เป็นศูนย์กลางคอมพาร์ทเม้นท์นี้ จะช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงหรือปัจจัยของการเกิดโรคของสัตว์ เพื่อหาทางป้องกันและจัดการกับปัจจัยความเสี่ยงตามแนวคิดขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) มาใช้ในระบบเลี้ยงสัตว์ปีก โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นโต้โผใหญ่ในการผลักดันให้ภาคเอกชนผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตสัตว์ปีกและเกษตรกรร่วมกันดำเนินการซึ่ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟและเกษตรกรในโครงการคอนแทรคฟาร์มของบริษัทได้ร่วมกับกรมฯจัดทำโครงการปลอดโรคไข้หวัดนก ตามหลักการของ OIE ขึ้นตั้งแต่พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้รูปแบบการบริหารจัดการในระบบคอมพาร์ทเม้นท์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจรอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแนวคิดที่ว่า “วิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง” จนประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะสามารถป้องกันไม่ให้สัตว์ปีกเกิดโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำเร็จของระบบคอมพาร์ทเม้นท์นี้ไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงในประเทศเราเท่านั้น เพราะเมื่อเร็วๆนี้ ผมได้รับเกียรติเป็นผู้แทนของทั้ง ซีพีเอฟและอุตสาหกรรมผู้ผลิตไก่เนื้อประเทศไทย ไปบรรยายพิเศษในงานสัมมนาระดับนานาชาติถึง 2 งาน ในหัวข้อ “Success story on Sustainable Broiler production” ในงาน “World Nutrition Forum 2014” ณ International conference Centre Munchen (ICM) เมืองมิวนิคสาธารณรัฐเยอรมันและในงาน18th Federation of ASIAN Veterinary Association (FAVA) Congress หรือการประชุมวิชาการสมาพันธ์สัตวแพทย์ภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิคร่วมกับสมาพันธ์สัตวแพทย์โลก ที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อถ่ายทอดความสำเร็จอย่างยั่งยืนของมาตรฐานการผลิตไก่เนื้อระดับโลก โดยเน้นถ่ายทอดความสำเร็จเรื่องการป้องกันหวัดนกของไทยด้วยระบบคอมพาร์ทเม้นท์ที่ สามารถกำหนดมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวได้ตั้งแต่ต้นทาง และมาตรการอื่นๆที่ช่วยป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ปัจจัยสู่ความสำเร็จ 5 ประการ ได้แก่การบูรณาการตลอดกระบวนการผลิตสัตว์ปีก (Vertical integration) , การใช้อาหารสัตว์คุณภาพสูงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสัตว์ (Best quality Feed) , การป้องกันโรคในสัตว์ปีกอย่างเข้มงวด ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์และการมีระบบการจัดการฟาร์มที่ดี (Best practice on Bio security, Animal welfare, Farm management) , การพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการเลี้ยงสัตว์ปีกในฟาร์มปิด (Updated technology-computerized control chicken house) และระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนควบคู่กับการดำเนินโครงการเพื่อสังคมต่างๆ (Environment friendly and CSR)

สำหรับคอมพาร์ทเมนท์ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร ที่สามารถควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการ ประกอบด้วย คอมพาร์ทเม้นท์สำหรับโรงงานผลิตอาหารสัตว์คอมพาร์ทเมนท์สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์ คอมพาร์ทเม้นท์สำหรับโรงฟักไข่สัตว์ปีกคอมพาร์ทเมนต์สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกเนื้อ และคอมพาร์ทเม้นท์สำหรับโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกโดยหัวใจสำคัญของความสำเร็จมีองค์ประกอบด้านการจัดการ 4 หมวดหลักได้แก่ 1.) มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับสถานประกอบการตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (HACCP) สำหรับโรคไข้หวัดนก 2.) การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์มตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ 3.) การควบคุมโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์มตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และ 4.) การตรวจสอบย้อนกลับทำให้สามารถติดตามข้อมูลการผลิตได้ตลอดห่วงโซ่อาหารเริ่มจากโรงงานอาหารสัตว์ถึงโรงงานอาหารแปรรูป

ภายใต้คอมพาร์ทเมนท์เหล่านั้น จะมีการควบคุมอย่างเข้มงวด 3 จุด คือ

จุดที่1 : โรงงานอาหารสัตว์ที่ทำการคัดสรรวัตถุดิบอย่างดี ผ่านกระบวนการผลิตด้วยความร้อนในระบบปิดก่อนจะขนส่งด้วยรถที่ออกแบบเฉพาะ โดยรถทุกคันต้องผ่านการฆ่าเชื้อก่อนเข้ารับอาหารสัตว์ จึงมั่นใจได้ว่าอาหารสัตว์มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะและปราศจากเชื้อก่อโรค ขณะที่โรงฟักไข่สัตว์ปีกจะใช้ระบบการผลิตตามหลักการอาหารปลอดภัยโดยการขนส่งไข่ฟักและลูกสัตว์ปีกแรกเกิดใช้รถขนส่งเฉพาะในระบบปิดปรับอากาศ และต้องได้รับอนุมัติการเคลื่อนย้ายจากกรมปศุสัตว์จึงมั่นใจได้ว่าไข่ฟักและลูกสัตว์ปีกแรกเกิดปลอดจากโรค

จุดที่ 2 : ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์และสัตว์ปีกเนื้อจะแยกพื้นที่เลี้ยงออกจากพื้นที่อยู่อาศัยของพนักงานโดยเลี้ยงในโรงเรือนปิดระบบอีแวป และใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมจากภายนอกโดยผู้เลี้ยงไม่ต้องเข้าไปภายในโรงเรือนช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์สู่คนได้ กรณีจำเป็นต้องเข้าไปภายในโรงเรือน ผู้ปฏิบัติงานต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อมือและรองเท้าก่อน ส่วนอุปกรณ์และยานพาหนะทุกประเภทต้องผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าเขตฟาร์มและพื้นที่เลี้ยง ตลอดจนมีโปรแกรมการควบคุมและกำจัดสัตว์พาหะเพื่อป้องกันไม่ให้โรคเข้าไปปนเปื้อนสัตว์ปีกภายในโรงเรือนและโปรแกรมการเฝ้าระวังโรค ทั้งที่ฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม รวมทั้งมีมาตรการตรวจสอบก่อนการจับสัตว์ปีก และการขออนุมัติจับและเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกสู่โรงงานแปรรูปจากกรมปศุสัตว์ก่อนส่งมอบโรงงานแปรรูปเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ปีกปราศจากเชื้อก่อโรคและปลอดจากสารตกค้าง

จุดที่ 3 : โรงงานแปรรูปสัตว์ปีกถือเป็นจุดสุดท้ายก่อนจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ไก่ส่งถึงมือผู้บริโภคโดยไก่เนื้อที่ถูกเลี้ยงจากฟาร์มในระบบคอมพาร์ทเม้นท์เท่านั้นที่จะถูกส่งเข้าโรงงานแปรรูปที่มีมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมสำหรับโรคไข้หวัดนก

ส่วนแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกสำหรับพี่น้องเกษตรกร ที่ผมอยากฝากไว้ คือ 1) ต้องเข้มงวดกวดขันและทำความสะอาดฆ่าเชื้อทั้งบุคคลที่จะเข้า-ออกฟาร์ม อุปกรณ์การเลี้ยง และยานพาหนะที่เข้าฟาร์ม2)หมั่นตรวจสอบโรงเรือนไก่หรือเป็ดต้องปิดมิดชิดสมบูรณ์อย่าให้สัตว์พาหะนำโรคเช่นนก เข้าไปสัมผัสไก่-เป็ดในโรงเรือน 3)อย่าสัมผัสสัตว์ปีกที่ไม่ใช่ไก่หรือเป็ดของฟาร์มตนเองและ 4)หากพบว่าไก่หรือเป็ดมีปัญหาสุขภาพต้องรีบแจ้งสัตวแพทย์หรือปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เห็นผลเป็นรูปธรรมแล้วและความสำเร็จขยายไปมากกว่านี้หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันมาเอาจริงเอาจังกับการจัดการที่ถูกต้องตามมาตรฐานซึ่งจะทำให้ปัญหาไข้หวัดนกไม่กลับมาสร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อนอีก