นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "เป็นโอกาสที่ดีที่ OECD เลือกประเทศไทยในการจัดประชุมครั้งนี้ เพราะปัญหาการไม่รู้การจัดการเงินของประชาชนไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเห็นผลได้จากการก่อหนี้ที่เกินตัว และเริ่มออมเงินเพื่อเกษียณในอายุที่มากแล้ว ในอนาคตเมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงต่อฐานะการเงินของประเทศ ปัญหาการไม่รู้วิธีและไม่ตระหนักในการจัดการเงินเกิดขึ้นในประชาชนทุกระดับ และในทุกกลุ่มอาชีพ การแก้ไขเพื่อยกระดับความรู้จึงต้องดำเนินการร่วมกันทุกองค์กร ให้เป็นนโยบายของประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กและคนวัยทำงาน ซึ่งในการประชุมนี้ OECD ได้ให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายแก่ประเทศในเอเชีย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำมาปฏิบัติ โดย ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในเรื่องนี้มาแล้วระยะหนึ่งและหวังเห็นทุกหน่วยงานจะเห็นความสำคัญและร่วมมือกันมากขึ้น”
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สาเหตุหลักที่ส่งผลให้การตัดสินใจในด้านการออมและการบริหารการใช้จ่ายไม่เป็นไปในทางที่ควรประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่ ความยากจน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้กำกับดูแลด้านนโยบายพยายามเอาชนะให้ได้ เพราะเมื่อประชาชนยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้ในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานก็เป็นการยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้ ต่อมาคือ กระแสบริโภคนิยม ที่มีอิทธิพลต่อความยับยั้งชั่งใจในการใช้จ่าย โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคได้รับการกระตุ้นผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สำหรับสาเหตุประการสุดท้าย คือ การไม่เห็นความสำคัญของการจัดการการเงิน ทำให้การส่งเสริมความรู้ทางการเงินนั้นเกิดประสิทธิผลได้ไม่เต็มที่ แม้ว่าจะได้มีการจัดทำเนื้อหาขององค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และสื่อสารผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายก็ตาม
ในการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการนำเสนอและอภิปรายร่างรายงาน “นโยบายการให้ความรู้ด้านการเงินของประเทศในเอเชีย” ที่ OECD จัดทำจัดทำขึ้นจากการรวบรวมและประมวลข้อมูลที่ได้รับจากการตอบแบบสอบถามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ร่างรายงานฉบับดังกล่าวแสดงถึง ภาพรวมของทิศทางและการพัฒนานโยบายการให้ความรู้ด้านการเงินของประเทศในเอเชีย รวมทั้ง ข้อกังวลและความท้าทาย ตลอดจนการตอบสนองเชิงนโยบายและริเริ่มของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจของแต่ละประเทศ ได้นำมาสู่ข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบายของประเทศในเอเชีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของความริเริ่มเกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินในประเทศของตนเอง ดังนี้
Mr. Andre' Laboul, Chair of the OECD International Network on Financial Education (INFE) กล่าวว่า การสัมมนานี้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ซึ่งมีประเด็นปัญหาและเป้าหมายทำนองเดียวกัน การดำเนินการสามด้านได้แก่ การให้ความรู้การเงิน การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หากทำร่วมกันอย่างเต็มที่จะทำให้เกิดความมั่นคงและเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจง เช่น บริการการเงินสำหรับบุคคลรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและเล็กยุทธศาสตร์ชาติต้องจัดทำบนข้อมูลที่ได้จากการสำรวจด้วยรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้จึงจะทำให้เกิดผล สิ่งที่จำเป็นตอนนี้คือ การให้ความรู้การเงินอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนวงกว้าง และเชื่อมั่นว่าการจัดงานครั้งนี้โดย ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำไปสู่ความสำเร็จในเรื่องนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit