นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน วว. ได้ร่วมจัดนิทรรศการกึ่งถาวรเรื่อง “เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและงานบริการทดสอบระบบราง” ระหว่างวันที่ 17-26 ธันวาคม 2557 ณ ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ ภายใต้ “โครงการคืนความสุขให้เธอ...เยาวชน” ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ กระตุ้นความสนใจ สร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้กับเยาวชนและประชาชน โดยผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ที่นำมาแสดงนิทรรศการถาวรดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
พลังงานทดแทน วว. เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่รับสนองแนวพระราชดำริในด้านพลังงานทดแทน โดยได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ พัฒนางานวิจัย และเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับการพลังงานทดแทนมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ได้แก่ เอทานอล...จุดประกายพลังงานทดแทนจากวัตถุดิบทางการเกษตร วว. ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมการหมักแห่งประเทศญี่ปุ่น จัดสร้างโรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์หรือเอทานอลไร้น้ำแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งต่อมารัฐบาลได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศไทย เพื่อผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ไบโอดีเซล...จากสบู่ดำสู่พลังงานเพื่ออนาคต วว. ได้จับมือองค์กรพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น เปิดตัวโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูงแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้โครงการนวัตกรรมในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากชีวมวลที่ไม่ใช่อาหารและการใช้งานในยานยนต์ เพื่อใช้เป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการขยายระดับผลิตในเชิงอุตสาหกรรม พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตไบโอดีเซลของประเทศ
การผลิตน้ำมันจากสาหร่าย วว. วิจัยด้านพืชพลังงานรูปแบบใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายใต้เครือข่ายวิจัยพลังงานชีวภาพจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) ทีมงานได้คัดเลือกสาหร่ายกว่า 100 สายพันธุ์ โดยได้สายพันธุ์คัดเลือกสำหรับพัฒนาต่อ 6 สายพันธุ์ เป็นสาหร่ายน้ำเค็ม 2 สายพันธุ์ สาหร่ายน้ำจืด 2 สายพันธุ์ และสาหร่ายน้ำจืดที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้ 2 สายพันธุ์ โดยมีสัดส่วนน้ำมันสูงประมาณ 20-40% และมีอัตราการเติบโตประมาณ 10-15 กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน หรือสามารถคิดเป็นผลผลิตน้ำมันสาหร่ายประมาณ 1-3 ตันต่อน้ำมันต่อไร่ นอกจากนี้ วว. ยังประสบผลสำเร็จในการใช้เทคนิคย้อมสีไนล์ เรด (Nile Red staining) เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันได้รวดเร็วเป็นแห่งแรกของประเทศไทยด้วย
เทคโนโลยีพลังงานจากขยะ วว. ได้ดำเนินการวิจัยในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนขยะสดหรือขยะฝังกลบให้เป็นพลังงานในรูปแบบของน้ำมันและไฟฟ้า ดังนี้ 1.การผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Gasification 2.การผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Plasma gasification และ 3. การผลิตน้ำมันด้วยเทคโนโลยี Plasma pyrolysis โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถรองรับทั้งขยะสด ขยะฝังกลบ และขยะประเภทขยะอันตรายโดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรม ในอนาคต วว. จะเป็นหน่วยงานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศที่นับวันจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
งานบริการทดสอบและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมด้านการประเมินชิ้นส่วนระบบรางและชิ้นส่วนรถไฟ โชว์การให้บริการทดสอบและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมด้านการประเมินชิ้นส่วนระบบรางและชิ้นส่วนรถไฟ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย มาตรฐาน มอก. และมาตรฐาน AREA (American Railway Engineering Association) ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการประเมินสมรรถนะและอายุการใช้งานข้อต่อขยายตัวสะพานต้านทานแผ่นดินไหวตามมาตรฐานสากล ซึ่ง วว. ได้เริ่มให้บริการทดสอบระบบรางกับผู้ประกอบการก่อสร้างระบบรางชั้นนำของประเทศ เพื่อนำวัสดุที่ผ่านการทดสอบไปใช้ในการก่อสร้างระบบรางทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
นอกจากการจัดนิทรรศการกึ่งถาวรดังกล่าว วว. ยังจัดกิจกรรม “รักษ์น้ำกับ วว.” เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์น้ำ ที่นำมาใช้ในการอุปโภค-บริโภค พร้อมทั้งมีการแจกของรางวัลมากมายให้กับน้องๆเยาวชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วว. Call Center .โทร 0 2577 9300 ในวันและเวลาราชการ
หรือที่โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 www.tistr.or.th E-mail : [email protected]
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit