นายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้า ของ AISC เปิดเผยว่า จากการประชุม SEAISI และ AISC พบข้อมูลว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนประสบปัญหาการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมีปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย ยกตัวอย่างกรณีการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนอัลลอยด์มายังประเทศไทย ซึ่งภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี ปริมาณการนำเข้าได้เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติกว่า 30 เท่าตัว จากเดิมเฉลี่ยเดือนละ 3 พันตัน เป็นเดือนละเกือบแสนตัน จนในที่สุดรัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยด์ ดังนั้น จากแนวโน้มปัญหาดังกล่าวที่รุนแรงมากขึ้น SEAISI และ AISC จึงได้มีมติส่งหนังสือเป็นทางการถึงสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และภาครัฐของแต่ละประเทศ ให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะสินค้าเหล็กจากจีน ซึ่งขณะนี้ประเทศในอาเซียนได้เร่งใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) และมาตรการเซฟการ์ด เพื่อบรรเทาผลเสียหายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมเหล็กภายในของแต่ละประเทศอย่างเร่งด่วน เฉพาะสินค้าเหล็ก อินโดนีเซีย มีการไต่สวนและใช้เอดี 4 มาตรการ และเซฟการ์ด 4 มาตรการ, ฟิลิปปินส์ ไต่สวนและใช้เซฟการ์ด 2 มาตรการ, มาเลเซียใช้เอดี 4 มาตรการ และเร่งไต่สวนเซฟการ์ดอีก 1 มาตรการ รวมถึงการควบคุมใบอนุญาตนำเข้าอย่างเข้มงวด ในขณะที่ประเทศไทยมีการใช้มาตรการเซฟการ์ดสินค้าเหล็กไปแล้ว 1 มาตรการ และอยู่ระหว่างไต่สวนอีก 1 มาตรการ
นางสาวชลธิชา จงรุ่งกีรติ เลขาธิการสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่ามาตรการเซฟการ์ดเป็นมาตรการที่องค์กรการค้าโลก (WTO) ให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้เป็นเครื่องมือป้องกันตนเองในยามจำเป็นได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมากผิดปกติเท่านั้น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน ซึ่งแม้แต่ประเทศชั้นนำที่เน้นการค้าเสรี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ต่างใช้มาตรการเซฟการ์ดเพื่อปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็ก เมื่อสินค้าเหล็กนำเข้าได้ทะลักเข้าไปทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของตนได้รับความเสียหาย จึงได้ใช้มาตรการเพื่อปกป้อง และรักษาอุตสาหกรรมภายใน จนเมื่อวิกฤติการณ์คลี่คลายและอุตสาหกรรมผู้ผลิตภายในประเทศสามารถปรับตัวเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้แล้ว จึงค่อยยุติมาตรการ แต่ประเทศไทยกลับใช้มาตรการเซฟการ์ดล่าช้ามาก เพราะเพิ่งเริ่มใช้เมื่อปี 2555 หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ได้ไต่สวน และใช้มาตรการเซฟการ์ดสินค้าต่างๆ ตั้งแต่ปี 2545 มาเป็นจำนวนถึง 8 มาตรการแล้วซึ่งรวมสินค้าเหล็กด้วย หรือประเทศอินโดนีเซีย ก็ไต่สวนและใช้มาตรการเซฟการ์ดมากถึง 15 มาตรการ ซึ่งหลายมาตรการก็เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กด้วยเช่นกัน เพราะหากไม่มีมาตรการเซฟการ์ดมาช่วยป้องกันการนำเข้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น ในที่สุดสินค้าเหล็กนำเข้าอาจจะเข้ามาแทนที่สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมดจนผู้ผลิตภายในประเทศไม่สามารถอยู่รอดได้ และผู้บริโภคภายในประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าเหล็กเพียงอย่างเดียว สำหรับข้ออ้างว่ามาตรการเซฟการ์ดอาจทำให้ราคาของเหล็กแผ่นรีดร้อนปรับขึ้นจนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะเหล็กแผ่นรีดร้อนเป็น 1 ใน 43 รายการสินค้าที่ควบคุมโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ได้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดมาโดยตลอด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit