เยือนเมืองแปดริ้วดูความสำเร็จ "ศศิธรฟาร์ม" เลี้ยงหมูคอนแทรคฟาร์ม...ต้นทางสร้างอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

15 Dec 2014
วิวัฒนาการการเลี้ยงสัตว์ของบ้านเรานับว่าเดินหน้ามาไกลและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูหลังบ้านเพื่อเป็นอาหารในครอบครัว เมื่อเหลือจากการบริโภคก็นำไปขายให้เพื่อนบ้าน จนเมื่อความต้องการบริโภคมีมากขึ้นการเลี้ยงจึงต้องมุ่งไปที่ปริมาณสัตว์ที่เลี้ยงทให้เพียงพอต่อความต้องการ และเป็นที่มาของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ดังเช่นปัจจุบัน การเจริญเติบโตที่ว่านี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ที่ไม่เพียงทำให้ได้ผลผลิตสัตว์ที่มีจำนวนมากพอสำหรับผู้บริโภคที่นับวันยิ่งมีจำนวนมากขึ้น ตามการเติบโตของประชากรโลก หากแต่ผลิตผลที่ได้นั้นก็มีความปลอดภัยขึ้น ด้วยมีมาตรฐานการผลิตทั้งของไทยและสากลเป็นกรอบที่ผู้ผลิตต้องเดินตาม

วันนี้มีโอกาสมาเมืองแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อพบกับ นพฉัตร ปัญญาวชิโรภาส เจ้าของ “ศศิธรฟาร์ม” อำเภอพนมสารคาม อดีตสัตวบาลหนุ่มวัย 30 ปี ที่ผันตัวเองสู่การเป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยีทันสมัย นำมาช่วยพัฒนาภาคปศุสัตว์ให้มีมาตรฐานการผลิตสูงขึ้น และมั่นใจว่าสัตว์ที่ออกไปจากฟาร์มของเขาทุกตัวมีคุณภาพ เพราะเขาถือว่าตัวเองยืนอยู่ในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภค ดังนั้นฟาร์มของเขาต้องเป็น “ต้นทางของอาหารปลอดภัย”

นพฉัตร เล่าว่า ขณะที่ตนเองเป็นสัตวบาลของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ต้องรับหน้าที่ในการดูแลเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรแก่เกษตรกรรายย่อย หรือคอนแทรคฟาร์ม กับบริษัท ทำให้มองเห็นถึงความมั่นคงด้านอาชีพจากโครงการคอนแทรคฟาร์มเลี้ยงหมูขุน จึงเริ่มต้นสร้างอาชีพใหม่ด้วยการเป็นเกษตรกรในรูปแบบประกันรายได้กับซีพีเอฟ ด้วยการเลี้ยงหมูขุนจำนวน 2,100 ตัว ใน 3 โรงเรือน และเนื่องจากตนเองเป็นสัตวบาลมาก่อนและทราบดีว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตนั้น นอกจากจะช่วยให้การเลี้ยงหมูมีการพัฒนาการที่ดีนำไปสู่ผลผลิตที่มีคุณภาพแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดภาระงานให้กับคนงาน ทำให้มีเวลาในการเอาใจใส่ดูแล

“สุขภาพสัตว์ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเลี้ยงสัตว์ เพราะเมื่อสัตว์สุขภาพดี ไม่ป่วย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาสำหรับการรักษา และเราเชื่อว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา โดยจะคอยสังเกตทั้งตัวหมูและสภาพแวดล้อม อย่างเช่นช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงก็จะเริ่มให้วิตามินเพื่อป้องกันสุขภาพหมูไว้ก่อน ส่วนหมูที่เริ่มมีอาการซึม มีไข้ หรือกินอาหารน้อยลง ก็จะรีบแยกออกมาดูแลเป็นพิเศษ การทำแบบนี้ทำให้ฟาร์มเราไม่มีการใช้ยา หมูที่ผลิตได้จึงปลอดภัย เพราะผมถือว่าตัวเองไม่ใช่แค่คนเลี้ยงหมู แต่ยังเป็นผู้บริโภคด้วย ดังนั้นการผลิตอาหารเพื่อผู้บริโภคก็ต้องใส่ใจในความปลอดภัย” นพฉัตร กล่าว

ที่สำคัญศศิธรฟาร์มยังยึดมั่นในกฎระเบียบและมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อให้การผลิตหมูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยในอาหารในระดับสูง เช่นเดียวกับเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มรายอื่นๆ โดยเน้นการบริหารจัดการที่ดี การเฝ้าระวังสุขภาพ และการสำรวจสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน ทำให้สามารถคัดแยกสัตว์ที่เริ่มเจ็บป่วยออกมาดูแลได้อย่างรวดเร็ว โดยจะให้วิตามินบำรุงร่างกายช่วยให้หมูฟื้นตัวได้เร็ว และหายป่วยได้โดยไม่ต้องใช้ยารักษา

สำหรับเทคโนโลยีการผลิตที่นพฉัตรนำมาช่วยพัฒนาการเลี้ยงหมู ได้แก่ การใช้ระบบการให้อาหารอัตโนมัติเนื่องจากเดิมการให้อาหารจะใช้แรงงานคนเป็นผู้ให้ ทำให้แรงงานเกิดความเหนื่อยล้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เขาจึงตัดสินใจติดตั้งระบบการให้อาหารแบบอัตโนมัติเพื่อลดปัญหาดังกล่าว พบว่าผลลัพธ์ดีเกินคาด เพราะไม่ต้องเสียแรงงานในการเตรียมอาหาร เพียงให้อาหารตรงเวลาและเดินดูความเรียบร้อย ทำให้เหลือเวลาที่จะดูแลสัตว์ได้มากขึ้น อีกทั้งอาหารก็ไม่ตกหล่นเสียหายเหมือนอนที่ให้อาหารด้วยแรงงานคน ประสิทธิภาพการใช้อาหารก็ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด

“การลงทุนนำระบบอัตโนมัติมาใช้แม้จะเป็นเม็ดเงินที่สูงก็ตาม แต่ผลที่ได้กลับมาถือว่าน่าพอใจ ทั้งคนเลี้ยงก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับการทำงาน ส่วนหมูก็ได้กินอาหารตรงเวลา การให้อาหารก็มีประสิทธิภาพ เรียกว่า มีความสุขทั้งคนทั้งหมู” นพฉัตร บอกอย่างอารมณ์ดี

นอกจากนี้ ศศิธรฟาร์มยังทำการปรับปรุงระบบการทำงานใหม่ควบคู่ไปด้วย โดยการวางระบบงานให้มีความชัดเจน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น กำหนดการทำความสะอาดส้วมน้ำ จากที่เคยเปลี่ยนน้ำทุกวัน มาเป็น 3 วันต่อครั้ง โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการทำความสะอาดดังกล่าว ไม่มีผลกระทบกับการผลิตและไม่เกิดกลิ่นเหม็นที่อาจส่งผลต่อชุมชนรอบข้าง และยังช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังใช้ระบบไบโอแก๊สเพื่อบำบัดของเสียในกระบวนการผลิต ที่นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าจากการนำแก๊สที่ได้จากกระบวนการหมักในระบบมาปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหากลิ่นที่อาจจะกระทบกับชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกรีนฟาร์มของซีพีเอฟ ที่ผลักดันให้ฟาร์มหมูเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

“การหันมาเป็นเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง วันนี้ผมมีรายได้จากการเลี้ยงหมูรุ่นละประมาณ 1 ล้านบาท ในหนึ่งปีเลี้ยงหมูขุนได้ 2 รุ่น เท่ากับเราได้รายได้ถึง 2 ล้านบาท แม้ว่าวันนี้ยังต้องจ่ายเงินกู้ให้ธนาคาร แต่อีก 2 ปีข้างหน้าเมื่อหมดภาระตรงนี้เราก็จะมีเงินเดือนถึงกว่า 160,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการทำอาชีพอื่นๆทั่วไป วันนี้ผมภูมิใจที่สร้างฐานะและครอบครัวที่มั่นคงได้ด้วยอาชีพเลี้ยงหมู” นพฉัตร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือ บทพิสูจน์ของเกษตรกรที่มีวินัย หัวก้าวหน้า และตั้งใจ ภายใต้ระบบคอนแทรคฟาร์ม โดยมีผลผลิตที่ได้มาตรฐานและคุณภาพตามความต้องการของตลาดเป็นตัวสะท้อนความสำเร็จ ที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งเป็นแรงสนับสนุน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีทันสมัย การมีพันธุ์สัตว์ที่ดี ใช้อาหารที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ที่สำคัญคือการเลี้ยงในโรงเรือนที่ทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดี และยิ่งไปกว่านั้นคือความใส่ใจของเกษตรกรต่อการป้องกันซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าการรักษา เพราะทั้งได้ผลผลิตสัตว์ที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมีตกค้าง แถมยังลดต้นทุนการผลิตสัตว์ได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าภาคเกษตรปศุสัตว์บ้านเรามีพัฒนาการที่ก้าวไกล และมีศักยภาพในการก้าวไปสู่การเป็นครัวของโลกตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างไม่ยากเย็นเลย

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit