นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีส่งมอบและเปิดใช้สะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 2 ที่ กม.120+700 ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา อย่างเป็นทางการ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ชาวจังหวัดนครราชสีมาและผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 โดยมีนายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายเจฟฟรีย์ ดี ไนการ์ด รองประธานอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการหัวอ่านและบันทึกข้อมูล นางเพียงฤทัย ศิวารัตน์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ โรงงานโคราช บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกรมทางหลวง ผู้บริหารจังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่กรมทางหลวง จังหวัดนครราชสีมา และพนักงานบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก
นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า จากสถิติของกรมทางหลวงเกี่ยวกับอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนถนนของจังหวัดนครราชสีมา พบว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและปัญหาจราจรสะสมสูงสุดในแต่ละช่วงเทศกาล รวมถึงช่วงวันหยุดต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ซึ่งจากการก่อสร้างสะพานกลับรถนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงและเกิดการพัฒนาท้องที่ ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ช่วยลดอุบัติเหตุ อีกทั้ง ผู้ใช้เส้นทางจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางไปสู่จังหวัดนคราชสีมา และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับ 7 มาตรการในการอำนวยความสะดวกปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนของกรมทางหลวง ตามโครงการ “เดินทางอุ่นใจ ปลอดภัยไปกับกรมทางหลวง” ที่มุ่งให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจและเดินทางด้วยความปลอดภัย ทั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ วันหยุดติดต่อกันหลายวัน และการเดินทางในช่วงเวลาปกติ โดยการก่อสร้างสะพานหรือจุดกลับรถเกือกม้า (U – Turn เกือกม้า) แห่งนี้ เป็นสะพานชนิดคอนกรีตอัดแรง พร้อมอุปกรณ์ประกอบ ผิวจราจรกว้าง 5.30 – 8.00 เมตร ขอบทางกว้างข้างละ 0.50 เมตร ความยาวรวม 345.60 เมตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 80 ล้านบาท จากบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และดำเนินการก่อสร้างโดยศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 1 (พิจิตร) และศูนย์สร้างทางขอนแก่น กรมทางหลวง
นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ซีเกท โคราชได้ส่งเสริมให้เกิดการจ้างแรงงานในชุมชนและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับทางจังหวัดมาโดยตลอด อีกทั้งยังจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิดและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างสะพานกลับรถแห่งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ซีเกทริเริ่มขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชุมชมและผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นหลัก ในนามของจังหวัดนครราชสีมา ขอขอบคุณกรมทางหลวง และซีเกทที่เป็นอีกหนึ่งแรงเพื่อร่วมลดความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ”
ทั้งนี้ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เริ่มต้นการลงทุนในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2526 โรงงานทั้ง 2 แห่งในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการผลิตหัวอ่าน-เขียน การประกอบชุดหัวอ่าน การผลิตหัวอ่าน-เขียนสำเร็จรูป รวมไปถึงการประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์สำเร็จรูป ซึ่งโรงงานในประเทศไทยนี้ นับเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกของซีเกทและว่าจ้างพนักงานกว่า 15,000 คน
“ซีเกทใช้เวลากว่า 10 ปีในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย ในปัจจุบัน ระบบบริหารงานด้านความปลอดภัย ช่วยให้เราสามารถลดความเสี่ยงได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความปลอดภัยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานและวัฒนธรรมของเรา การสนับสนุนการสร้างสะพานกลับรถจึงเป็นส่วนหนึ่งที่เราแชร์วัฒนธรรมทางด้านความปลอดภัยให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น และในนามของซีเกท เทคโนโลยี ผมขอมอบสะพานแห่งนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่เพื่อประโยชน์ของชาวโคราชและผู้ใช้รถใช้ถนนต่อไป” นายเจฟฟรีย์ ดี ไนการ์ด รองประธานอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการหัวอ่านและบันทึกข้อมูล บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี จำกัด กล่าว
นางเพียงฤทัย ศิวารัตน์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ โรงงานโคราช บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทได้สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างสะพานกลับรถมูลค่า 80 ล้านบาทนี้เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปีของการดำเนินงานในประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 นอกจากซีเกทจะให้การสนับสนุนการก่อสร้างนี้แล้ว ซีเกท โคราช ยังได้ปลูกจิตสำนึกให้แก่พนักงานในองค์กรกว่า 12,000 คนมาโดยตลอด ให้มีจิตสำนึกรัก ดูแลเอาใจใส่และแบ่งปันให้แก่ชุมชนสูงเนิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการบูรณะโรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดฯ ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมความร่วมมืออื่นๆ เพื่อประโยชน์ของชุมชนโดยรวม”