นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2557 สาขาที่สำคัญ มีดังนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์เดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.55 โดยการผลิตมีจำนวน 158,038 คัน การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีจำนวน 73,068 คัน ลดลงร้อยละ 21.84 ทั้งนี้ ด้านการส่งออกมีการขยายตัวร้อยละ 11.03 โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือน พฤศจิกายน 2557 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ตู้เย็น สายไฟฟ้า และโทรทัศน์ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกไปต่างประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย มีการปรับตัวลดลงจากปัญหาความไม่สงบ นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดอาเซียน สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีการขยายตัว ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor และ HDD ยกเว้น Monolithic IC และ Other IC ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีปริมาณ 1.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.24 การส่งออก มีมูลค่า 86.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 10.44 ส่วนมูลค่าการนำเข้า 723.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.87 โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวการบริโภคและการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็น การผลิตเพื่อรักษาระดับปริมาณสินค้าคงคลังและเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ทั้งนี้ สถานการณ์โดยรวมของเหล็กทรงยาวทรงตัว
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ เดือนพฤศจิกายน ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่า จะมีปริมาณการผลิตลดลงจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม ในส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปีตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหารเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปีก่อนร้อยละ 2.7 เนื่องจากการผลิตปศุสัตว์ และประมงที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการของตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น และภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง ส่วนการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เนื่องจากได้รับผลดีจากการเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แต่ต้องติดตามปัจจัยกระทบในสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีความแน่นอนจากการติดตามรอผลสรุปการแก้ไขวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง