คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา 103/5 ประกอบมาตรา 103/2 มีเจตนารมณ์คุ้มครองผู้กล่าวหาซึ่งได้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล เกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่หรือข้อมูลอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งหรือได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อันเนื่องจากการกล่าวหาหรือการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏว่าศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล เป็นผู้กล่าวหา ศาสตราจารย์ รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่ากระทำความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งได้ขอคุ้มครองไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๑๐๓/๕ ประกอบมาตรา 1๐3/๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่าอาจถูกกลั่นแกล้งปลดให้ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขโดยการบอกเลิกสัญญาจ้างผู้บริหาร ที่อ้างเหตุผลเกี่ยวกับการโต้แย้งอำนาจของประธานและคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในการบริหารการประชุม ดังนั้น การบอกเลิกจ้างผู้บริหารที่ นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้มีต่อศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล จึงอาจสืบเนื่องมาจากการที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล เป็นผู้กล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น เพื่อให้นโยบายแห่งรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองช่วยเหลือพยานให้มีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อให้การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้คุ้มครองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล หรือมีมาตรการอื่นใดตามที่เห็นสมควรต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit