เบรีย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ PIPA ขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี

26 Dec 2014
Better Rice Initiative Asia (เบรีย) ภายใต้ องค์การอาหารเยอรมัน (German Food Partnership หรือ GFP) กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไบเออร์ ครอปซายน์ ร่วมกันจัดอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมโดยผู้มีส่วนได้เสีย ขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ที่ โรงแรม รีเจ้นท์ พาเลซ อุบลราชธานี เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของเกษตรกร ในการเตรียมการสำหรับ กิจกรรมสร้างขีดความสามารถของ เบรีย
เบรีย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ PIPA ขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี

ดร. อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยได้แจ้งผู้เข้าร่วม ให้รับทราบเกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ในปี 2558 เพื่อให้เกิดการพัฒนาข้าวอย่างยั่งยืนในทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

แผนการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต ส่งเสริมการผลิตข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) ลดพื้นที่ปลูกข้าวขาวนาปรัง (ลดรอบการปลูกข้าว) และปรับเป็นเกษตรกรรมทางเลือก ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว โดยจะนำเสนอแผนต่อ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา

นาย กู้เกียรติ สร้อยทอง ที่ปรึกษาโครงการ เบรีย และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมข้าวของกรมการข้าว กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการศึกษาการวิเคราะห์ผลกระทบโดยการมีส่วนร่วม หรือ Participatory Impact Pathways Analysis (PIPA) โดยพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ สามารถระบุ และวิเคราะห์ ประเด็นที่เป็นปัญหา พร้อมเตรียมการขับเคลื่อน ‘ความคิดริเริ่มที่ดีกว่าสำหรับข้าว’ ของชุมชนของตน

นอกเหนือจากเกษตรกรจาก ศูนย์ข้าวชุมชนเป้าหมาย ทั้ง 8 แห่ง ยังมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอาทิ โรงสีข้าว ศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สำนักงานส่งเสริมการเกษตร ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หอการค้า และผู้เชี่ยวชาญจากกรมการข้าวเป็นผู้อำนวยการประชุม

ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทำการประเมินปัญหา ตั้งแต่การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม และอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ การเตรียมดิน ระยะเวลาการปลูกที่เหมาะสม การจัดการน้ำ การเก็บเกี่ยว การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว ตลอดจน การขนย้าย และการเก็บรักษาในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ เกษตรกรได้หยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน การขาดระบบชลประทาน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารเคมี การบันทึกข้อมูลและการทำบัญชี และการไถกลบตอซัง สิ่งที่เกษตรกรต้องการ คือ การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพข้าว ความสามารถในการปลูกพืชตามฤดูกาล และการเชื่อมโยงกับตลาด

นายจำรูญ ศุภผล ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและแผนกคุ้มครองผลิตภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจ ไบเออร์ ครอปซายน์ กล่าวว่า ไบเออร์ ครอปซายน์ มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพของ เบรีย ด้วยการฝึกอบรมเกษตรกร เพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน บริษัท ต้องการริเริ่มกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ PIPA ซึ่งเกษตรกรได้มีส่วนร่วม จะกำหนด เนื้อหาของการฝึกอบรม

ผู้เข้าร่วมยังได้ระบุและเชื่อมโยง ผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ ในห่วงโซ่มูลค่าข้าว ประกอบด้วย ผู้เกี่ยวข้องในการผลิตข้าว ผู้เกี่ยวข้องในด้านนโยบาย ผู้ให้บริการและสนับสนุน นักวิจัย ผู้สนับสนุนด้านการเงิน พร้อมทั้งประเมินผลกระทบ อิทธิพล และความสนใจ

ผู้นำศูนย์ข้าวชุมชนท่านหนึ่ง ได้ร่วมแบ่งปันความสำเร็จของศูนย์ข้าวของตน ที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับสหกรณ์ในการจำหน่ายข้าว ในขณะที่เกษตรกรอีกท่านหนึ่ง แสดงความปรารถนา ที่จะผลิตข้าวที่มีคุณภาพ และเป็นผู้ขายผลผลิตข้าวของตนเองอย่างได้ราคา

ผศ. ณัชพล สามารถ แห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งข้อสังเกตว่า ศูนย์ข้าวชุมชนที่จะประสบความสำเร็จ ควรมีผู้นำที่ดี มีกรรมการชุมชนที่มีจริยธรรม บริหารงานโปร่งใส มีความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชน มีความเข้มแข็งในการพึ่งพาตนเอง มีการจัดการความรู้ทั้งในและนอกชุมชน และการสร้างเครือข่ายภายในและภายนอกชุมชน เป็นต้น

เบรีย จะเลือกศูนย์ข้าวชุมชนหนึ่งแห่งให้เป็น ‘ศูนย์กลาง’ ในการถ่ายทอดความรู้ ไปยังอีกเจ็ดแห่ง ซึ่งจะกลายเป็นเครือข่ายของศูนย์ต่อไป