แหล่งข่าวจากเครือสหวิริยา เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทในเครือสหวิริยาได้นำเข้าเหล็กทรงยาว (Long Product) และ เหล็กรูปพรรณ (Shape/Section) ประเภทเหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กเอชบีม(H-Beam) และเหล็กรางน้ำ โดยเจืออัลลอยด์เพื่อนำมาจำหน่ายภายในประเทศว่า เครือสหวิริยาไม่มีการนำเข้าเหล็กเส้นก่อสร้างเจืออัลลอยด์แต่อย่างใด และแม้อาจมีผู้ที่ขออนุญาตนำเข้าตามข่าวนั้น ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทในเครือสหวิริยาเลย เชื่อว่าข่าวที่ออกมานั้นมีผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องการสร้างกระแสโดยมีเป้าหมายเพื่อหาทางล้มกรณีมาตรการทางการค้าเท่านั้น และไม่จ่ายอากรปกป้องหรือ เซฟการ์ดที่มีการหลีกเลี่ยงนับหมื่นล้านบาท
สินค้าเหล็กเป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากกรมการค้าภายใน อุตสาหกรรมเหล็กทรงยาวนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งข่าวการนำเข้าเหล็กทรงยาวดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้า และผู้บริโภค อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเครือสหวิริยานำเข้ามาเพื่อแทรกแซงตลาดซึ่งส่งผลต่อราคาเหล็กในปัจจุบัน
“ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมเหล็กและผู้ผลิตภายในประเทศ เครือสหวิริยาไม่มีนโยบายในการนำเข้าเหล็กเจืออัลลอยด์และแม้ที่ผ่านมาบริษัทในเครือสหวิริยาก็เคยถูกสินค้าเจืออัลลอยด์ เข้ามาแย่งตลาด และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อกิจการบริษัท และอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ บริษัทในเครือก็ไม่เคยนำเข้าสินค้าดังกล่าวเข้ามาขายทดแทนการผลิต แต่อุตสาหกรรมภายในกลับร่วมมือกันทำงานอย่างหนัก ตลอดจนนำเสนอข้อมูลจริงของการนำเข้าที่เพิ่มผิดปกติ และภาครัฐที่เกี่ยวข้องจากหลายๆ หน่วยงาน ได้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านและมีขั้นตอนการพิจารณาเป็นไปตามหลักของ WTO จนสามารถพิสูจน์ถึงความไม่เป็นธรรมทางการค้า และความเสียหายของอุตสาหกรรมภายใน จนในที่สุดภาครัฐจึงบังคับใช้มาตรการทางการค้า”
ทั้งนี้เครือสหวิริยาอยากให้เกิดความสามัคคีของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศทั้งทรงยาว และทรงแบนร่วมกันปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กเส้น หรือเหล็กรูปพรรณ เนื่องจากสินค้าทั้งหมดมีความเกี่ยวเนื่องกัน หากอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบ ก็จะส่งผลถึงอีกอุตสาหกรรมเช่นกัน
“เครือสหวิริยาเชื่อมั่นว่าภาครัฐมีนโยบายดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เท่าเทียมกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งหากพิจารณาประเทศที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลกเช่น จีน อเมริกา ญี่ปุ่น ก็มีการสนับสนุน และปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของตนเองจนมีความแข็งแกร่ง จนสามารถพัฒนาต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้จนถึงปัจจุบัน”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit