บริษัทราชธานีลิสซิ่งมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาตมาตั้งแต่ปี 2553 หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กับธนาคารธนชาตพร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ปัจจุบันธนาคารธนชาตจัดให้บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มควบรวมแบบ Non -Solo Consolidation ตามกฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของ ธปท. แม้ว่าธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จะทับซ้อนกับธุรกิจของธนาคารธนชาต ทว่าบริษัทและธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์และตลาดเป้าหมายที่ต่างกัน ธนาคารธนชาตมีความตั้งใจที่จะให้บริษัทเน้นกลุ่มตลาดที่ธนาคารธนชาตยังเข้าไม่ถึง นอกจากนี้ ธนาคารธนชาตยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทในการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้วย โดยมีการนำนโยบายการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ มาใช้ในบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารธนชาต ล่าสุดบริษัทได้เปลี่ยนระบบสารสนเทศสำหรับธุรกิจเช่าซื้อมาใช้ระบบเดียวกับของธนาคารธนชาต และเมื่อเดือนเมษายน 2556 บริษัทยังใช้ระบบบัญชีเดียวกับธนาคารธนชาตด้วย ทั้งนี้ บริษัทยังได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากธนาคารแม่และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ผ่านการกำกับดูแลจากธนาคารแม่ด้วยเช่นกัน
บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาต บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินเพิ่มมากขึ้นซึ่งช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันและช่วยสนับสนุนความพยายามในการขยายธุรกิจของบริษัท บริษัทสามารถยกระดับสถานะทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่องโดยสะท้อนจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อ โดยสินเชื่อรวมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 42% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปีนี้ทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อลดลง ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 สินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ในระดับ 28,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 4.1% เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2556
บริษัทได้เน้นการให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2549 โดยสินเชื่อในกลุ่มนี้คิดเป็น 68% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คงค้างของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 บริษัทพยายามชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเรียกเก็บเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น และการให้ชำระเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์จัดเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปีนับตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2555 โดยลดลงจาก 4.9% ในปี 2551 เป็น 2.3% ในปี 2555 อย่างไรก็ดี อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในปี 2556 และ 4.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น ในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง บริษัทจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรและควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
บริษัทมีผลกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2555 และ 2556 โดยในปี 2555 บริษัทมีกำไรสุทธิ 477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 133% จากปี 2554 ในขณะที่ในปี 2556 บริษัทยังมีกำไรสุทธิ 754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.2% ในปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปี 2555 และ 1.9% ในปี 2554 การปรับตัวดีขึ้นของกำไรสุทธิดังกล่าวเป็นผลมาจากการขยายฐานสินเชื่อจำนวนมาก รวมถึงการประหยัดจากขนาดจากต้นทุนการดำเนินงาน และการมีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการประหยัดจากขนาดจากสินเชื่อที่เติบโตขึ้นและจากการสนับสนุนของธนาคารธนชาต อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ลดลงเป็น 13.3% ในปี 2555 จากระดับ 26.7% ในปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่อไปอีกเป็น 10.7% ณ สิ้นปี 2556 ในครี่งแรกปี 2557 บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิ 368 ล้านบาท ลดลง 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งทำให้มีการตั้งสำรองเป็นจำนวนมาก
การแข่งขันที่รุนแรงเป็นอุปสรรคต่อผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงและต้นทุนต่ำจากธนาคารธนชาตซึ่งเป็นบริษัทแม่ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำจากตลาดทุนโดยการออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินด้วย แหล่งเงินต้นทุนที่ต่ำช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายได้เป็น 4.3% ในปี 2556 เปรียบเทียบกับ 3.3% ในปี 2555 และจาก 2.9% ในปี 2554 จากการเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาตทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีเงินกู้ยืมจากธนาคารธนชาตเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ บริษัทจะใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารธนชาตเมื่อมีความจำเป็นด้านสภาพคล่อง
ฐานทุนของบริษัททรุดลงจากการระดมทุนเชิงรุกโดยการกู้ยืมเพื่อขยายสินเชื่อแม้ว่าผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และมีการเพิ่มทุน 2 ครั้งล่าสุดแล้วก็ตาม อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 31.4% ในปี 2550 เป็น 13.4% ในปี 2553 และ 12.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 การปรับโครงสร้างทุนในเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นเป็น 17.2% ณ สิ้นปี 2554 บริษัทใช้ความยืดหยุ่นทางการเงินที่มีมากขึ้นในการขยายสินเชื่อในปี 2555 และปี 2556 ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 13.1% ณ สิ้นปี 2555 ถึงแม้ว่าบริษัทจะเสริมฐานทุนในปี 2556 ด้วยการจ่ายหุ้นปันผล กระนั้นอัตราส่วนดังกล่าวก็ยังลดลงเป็น 11.8% ณ สิ้นปี 2556 อันเนื่องมาจากการขยายสินเชื่อในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 12.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลง บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI) อันดับเครดิตองค์กร: BBB+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: THANI154A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+ THANI164A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+ THANI16NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+ THANI176A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+ THANI17OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+ THANI185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit