ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ในจำนวนสินเชื่อรวมของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง 86.4% เป็นสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งดำเนินการโดยบริษัทเอง ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2555 และปี 2556 ที่ระดับ 84.6% และ 86.2% ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทในเครือที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดคือ บริษัท กรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ระดับ 10.1% และ 3.2% ตามลำดับ สินเชื่อรวมของบริษัทขยายตัวมากถึงระดับ 23% จาก 22,786 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 เป็น 28,018 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 อย่างไรก็ดี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเพียง 3.5% จากสิ้นปี 2556 เป็น 28,985 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากอัตราการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าโดยรวมของบริษัทอยู่ในระดับต่ำเนื่องมาจากลักษณะของสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้ การกระจายตัวของส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในด้านผลิตภัณฑ์ของสินเชื่อได้ด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 สินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยคงค้างประกอบด้วยรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 28.8% รถตู้ 17.9% รถบรรทุก 44.4% รถแท็กซี่ 5.9% และอื่น ๆ อีก 3% โดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าสินเชื่อสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถตู้ และรถแท็กซี่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ส่วนผสมของสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อื่น ๆ ที่เน้นการให้สินเชื่อสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะ ดังนั้น เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่สูงกว่า บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเน้นสินเชื่อเฉพาะผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม
แม้สินเชื่อของบริษัทจะดูเหมือนมีความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่อัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 3 งวด) ต่อสินเชื่อรวมยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายการอนุมัติสินเชื่อแบบระมัดระวังจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 1.42% ในปี 2552 เป็น 0.89% ในปี 2553 วิกฤตอุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ได้ส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อย โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.43% ในปี 2553 เป็น 0.61% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สำหรับสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสปรับตัวดีขึ้นในปี 2554 ส่งผลให้บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม ณ สิ้นปี 2554 ที่ระดับ 0.88% อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 0.83% ณ สิ้นปี 2555 เป็นผลบางส่วนมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจเป็นผลให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.14% ณ สิ้นปี 2556 และ 1.34% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ความท้าทายของบริษัทคือการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ คุณภาพสินทรัพย์คาดว่าจะทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าคณะผู้บริหารที่มีความสามารถของบริษัทจะสามารถควบคุมและทำให้คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นในปีต่อไปได้
การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์ยังมีผลกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทและผู้ประกอบการรายอื่น ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรับได้รับแรงกดดันจากภาวะการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถรักษาระดับต้นทุนทางการเงินจากการใช้เงินทุนเพื่อขยายสินเชื่อจากการกู้ยืมระยะสั้นในสัดส่วนที่มาก นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและภาระการตั้งสำรองสินเชื่อยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมากเป็น 2.49% ในปี 2556 จากระดับ 2.39% ในปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับเป็น 17.57% ในปี 2556 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2555
บริษัทได้รับประโยชน์ด้านแหล่งเงินทุนจากการมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ดังกล่าวถูกจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันของสถาบันการเงิน โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวจำกัดจำนวนเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องของธนาคาร ซึ่งมีผลจำกัดความยืดหยุ่นทางเงินของบริษัทและประโยชน์จากแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงจากธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถกระจายแหล่งเงินทุนไปยังสถาบันการเงินอื่นและตลาดทุนซึ่งรวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ โดยเก็บวงเงินคงเหลือจากธนาคารกรุงเทพไว้เป็นแหล่งเงินทุนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการใช้แหล่งเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งส่งผลทำให้มีความไม่สอดคล้องกันของอายุของสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 บริษัทมีเงินกู้ระยะสั้นและเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดอายุไม่เกิน 1 ปีรวมกันอยู่ที่ระดับ 58.6% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวของบริษัทลดทอนลงจากการมีกระแสเงินสดจากการชำระค่างวดของลูกค้าและวงเงินสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการเงินทุนของบริษัท โดยทริสเรทติ้งหวังว่าบริษัทจะเตรียมวงเงินสำรองที่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ระยะสั้นซึ่งมีความเสี่ยงจากการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เก่า (Refinancing Risk)
การเพิ่มทุนในปี 2555 ช่วยให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 15.1% ในปี 2555 จาก 11.2% ในปี 2554 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวปรับลดลงเป็น 13.4% ในปี 2556 และ 12.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากการขยายสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ASK) อันดับเครดิตองค์กร: BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit