ดร.นพดล กรรณิกาในฐานะประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่าหลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงระบบประกันสังคมแต่ยังไม่สำเร็จรวมถึง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับล่าสุดที่ใช้อยู่ในขณะนี้ด้วยดังนั้นรัฐบาลชุดปัจจุบันโดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงได้ตัดสินใจผลักดันพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่เข้าสู่สภา สนช. เพราะเป็น พ.ร.บ.ที่ดีกว่าฉบับปัจจุบันในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมลูกจ้างทุกประเภทของหน่วยงานภาครัฐและที่ดีต่อทุกฝ่ายก็คือช่วยเหลือทั้งผู้ประกันตนและนายจ้างในกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้เช่น การเกิดภัยพิบัติ ก็สามารถนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเยียวยาทั้งผู้ประกันตนและนายจ้างได้ เป็นต้น
“การให้คณะกรรมการหรือบอร์ดต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อปปช.และต่อสาธารณชน และห้ามไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการบริหารจัดการกองทุนต่างๆ คือก้าวสำคัญของผลงานกระทรวงแรงงานขณะนี้อย่างไรก็ตาม ท่านรัฐมนตรีฯ ยังมีนโยบายเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเปลี่ยนผ่านระบบประกันสังคมของประเทศไทยให้เป็นอิสระมีการบริหารโดยมืออาชีพ ป้องกันการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายและโปร่งใสมั่นคงยั่งยืนอีกด้วย” ดร.นพดล กล่าว
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า คณะทำงานชุดปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนนี้ จะเน้นการทำเวิร์คชอป (Workshop)มีสูตรการทำงานคือ ๓๐: ๓๐: ๓๐ สู่การเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วของสำนักงานประกันสังคมคือช่วง ๓๐ วันแรกจะค้นหาข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จากนั้น ๓๐ วันในช่วงที่สอง จะทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบโมเดลทางเลือก และทดสอบโมเดลร่วมกัน สำหรับช่วง ๓๐ วันสุดท้าย จะเป็นการนำสู่ภาคปฏิบัติตามโรดแมปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนตามโรดแมปเปลี่ยนผ่านสู่ หลักประกันสังคม หลักประกันกองทุนส่วนตัว ของผู้ประกันตน ความมั่นคงของนายจ้างและการบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ ต่อไป
“ยุทธศาสตร์ในการศึกษาแนวทางปฏิรูปนี้เล็งให้สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานภาครัฐสีขาว (White Government) และเป็นภาครัฐแบบเปิด (Open Government) ให้ผู้ประกันตนและผู้ประกอบการทั้งประเทศเข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการแกะรอยการใช้ทุกเม็ดเงินของกองทุนและบริหารการลงทุนได้อย่างแท้จริงภายใต้การบริหารกองทุนโดยมืออาชีพด้านการลงทุนและการประกันความเสี่ยง” ดร.นพดล กล่าว
ดร.นพดล กล่าวต่อด้วยว่า ขณะนี้กำลังเร่งทำเวิร์คชอป (Workshop) ในนโยบายของกระทรวงแรงงานด้านกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ด้วยวิธีต่อไปนี้ ๑) เสวนา หารือกับทุกภาคส่วนและการจัดเวทีสัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ๒) ค้นหารูปแบบที่ดีที่สุดของการบริหารกองทุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เชิญชวนนักบริหารกองทุนมืออาชีพจากภาคเอกชน ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าสู่การศึกษาแนวทางปฏิรูปร่วมกัน ๓) ร่วมสร้างรูปแบบและทดสอบรูปแบบจำลองเพื่อให้ได้รูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยในการบริหารจัดการการใช้เงินและการลงทุนของกองทุนต่างๆ สู่การรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติและของประชาชนทุกคนในกรอบของกฎหมายและความมั่นคงของประเทศ
“ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า กระทรวงแรงงานมีหลายแนวทางที่ทำได้ก่อน ทำจริง ทำทันทีเพื่อสร้างความพอใจแก่ผู้ประกันตน นายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รื้อบอร์ด ผ่าตัดคณะกรรมการชุดต่างๆ ของประกันสังคมและเดินหน้าเสริมสร้างระบบที่ยั่งยืนทำลายวงจรกลุ่มผลประโยชน์ที่แทรกแซงเข้ามากอบโกยจากกองทุนต่างๆ ของประชาชนผู้ประกันตน นอกจากนี้คณะทำงานยังเล็งเสนอโครงการ หลักประกันสังคม หลักประกันกองทุนส่วนตัว ส่งเสริมการออมของทุกภาคส่วน ภายใต้ชื่อ ๑ คน ๑ กองทุน หนุนความมั่นคงรักษาผลประโยชน์ชาติด้านกองทุนประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงแรงงาน” ดร.นพดล กล่าวหมายเหตุ
ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์)สำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ปริญญาโทด้านการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ (เน้นยุทธศาสตร์) รางวัลเรียนดี เกียรตินิยมสูงสุด ยอดนิสิตแห่งรุ่น (ScholaeStudiorumSuperiorum) มหาวิทยาลัยคอร์แนล หลักสูตรปริญญาโทบางวิชาด้านเศรษฐศาสตร์และสถิติเพื่อนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ปริญญาโทด้านระเบียบวิธีวิจัย และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญปริญญาเอก ด้านบริหารจัดการวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
โทร. ๐๘๖-๐๗๑-๖๕๖๕ หรือ Email : [email protected]