จากรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) แนวร่วมแห่งอาเซียนเพื่อข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย หรือ ASEAN for a Fair, Ambitious and Binding Global Climate Deal (A-FAB) กล่าวว่า พายุและวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น ยกเว้นแต่ว่าถ้ารัฐบาลต่างๆ ได้ยอมปฏิบัตินโยบายที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อที่จะลดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
ในการส่งข้อความนี้ไปถึงเหล่าผู้นำอาเซียนนั้น เมื่อวานนี้อาสาสมัครจากเมืองทาโคลบันได้แต่งกายในชุดประจำชาติของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของทั้ง 10 ชาติอาเซียนที่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โรเจอร์ บาโคโล หนึ่งในอาสาสมัครที่เข้าร่วมกิจกรรม และเป็นผู้ที่ประสบเหตุการณ์เลวร้ายของพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้กล่าวว่า "ผมได้สูญเสียมารดาในเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ผมไม่อยากเห็นภัยพิบัติเช่นนี้อีกในชีวิตและในอนาคตของคนรุ่นต่อไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเวลานี้ และผมก็หวังว่าเราทุกคนจะสามารถรวมเป็นหนึ่งและลงมือทำอย่างเต็มที่ที่สุดเพื่อทุกๆคน"
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะว่ามีประชากรอาศัยอยู่แนวชายฝั่งทะเลอย่างหนาแน่นและพี่งพาการทำเกษตรกรรมในการดำรงชีวิต ดังนั้นภูมิภาคนี้จึงมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เช่น พายุ อุทกภัย และภัยแล้ง
"ความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าอาเซียน อย่างไรก็ดี การรวมตัวทางเศรษฐกิจที่จะมีขึ้นย่อมเป็นโอกาสที่ดีที่ภูมิภาคนี้จะเริ่มก้าวเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาด" เซลดา โซริอาโน ที่ปรึกษาด้านกฏหมายและการเมือง กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาชิกของ A-FAB กล่าว
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา A-FAB ได้ตีพิมพ์เอกสารข้อเสนอแนะด้านนโยบายภายใต้หัวข้อ "สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว" และเปิดเผยถึงความเสียหายที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศในทศวรรษที่ผ่านมาต่อประชากรหลายแสนคน ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่าสี่พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (1)ริซ่า เบอร์เนบ ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการวิจัยโครงการ GROW อ็อกแฟม เอเชียตะวันออกกล่าวว่าเราควรนำเหตุการณ์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนมาเป็นบทเรียนที่เตือนว่าเราไม่สามารถที่จะนิ่งนอนใจได้อีกต่อไปในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
"เราควรที่จะทำทุกวิถีทางในส่วนของเราเพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งของประชาชนให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติต่างๆ อาเซียนควรให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศ โดยจัดให้มีโครงการต่างๆ ในระดับภูมิภาคว่าด้วยการลดความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติและการปรับตัวในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ริซ่ากล่าว
แนวร่วมแห่งอาเซียนเพื่อข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย (A-FAB) เป็นความร่วมมือระหว่างอ็อกแฟม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และองค์การรัฐประศาสนศาสตร์ภาคพื้นตะวันออก (The Eastern Regional Organization for Public Administration- EROPA) ที่ร่วมกันผลักดันให้อาเซียน (Association of South East Asian Nations – ASEAN) แสดงบทบาทอย่างเปิดเผยและตื่นตัวในประเด็นว่าด้วยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC)หมายเหตุ
(1) เอกสารข้อเสนอแนะด้านนโยบาย'สภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว' สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/1DqcXa5
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit