เคล็ดไม่ลับถนอมดวงตาที่รักของคุณ

12 Nov 2014
ถ้าคุณเป็นคนที่ต้องใช้ชีวิตติดจออยู่เป็นประจำ แนะนำให้อ่านบทความนี้เพื่อประโยชน์ต่อสายตาของคุณในระยะยาว พฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน หลายคนใช้ชีวิตติดอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตทั้งวันทั้งคืน ไม่ว่าจะด้วยลักษณะของงานที่ต้องทำ หรือด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนไป ล้วนทำให้เราใช้ชีวิต “ติดจอ” อยู่กับโลกออนไลน์ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มากขึ้น หรือแม้แต่การอยู่กับหน้าจอโทรทัศน์ก็ตาม นั่นหมายความว่าเราต้องใช้สายตาไปสัมผัสกับคลื่นแสงสีฟ้า (Bluelight) ซึ่งเป็นคลื่นพลังงานสูง ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระภายในลูกตา ส่งผลให้เซลล์ประสาทตาเสื่อมได้ ดังนั้นการจ้องมองแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดอาการปวดตา ตาแห้ง พร่ามัว น้ำตาไหล รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD) นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดได้ โรคจอประสาทตาเสื่อมนั้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ในอายุที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอายุของผู้ป่วยด้วยโรคจอประสาทตาเสื่อมในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากพฤติกรรมของสังคมในปัจจุบัน และนอกจากโรคจอประสาทตาเสื่อมแล้ว แสงสีฟ้า ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคต้อกระจกอีกด้วย

ความน่ากลัวของโรคจอประสาทตาภาพเสื่อมและโรคต้อกระจก คือ การมองเห็นของเราจะมีประสิทธิภาพน้อยลง โรคจอประสาทตาเสื่อมจะทำให้การมองเห็นภาพเบลอและบิดเบี้ยวและอาจรุนแรงถึงขั้นเห็นจุดดำมาบังภาพอยู่ตลอดเวลา ส่วนโรคต้อกระจกแม้ว่าอาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ก็ใช่ว่าวัยหนุ่มสาวอย่างพวกเราจะไม่ต้องใส่ใจดูแล ความน่ากลัวคืออาการต้อกระจกจะค่อยๆ ขุ่นไปอย่างช้าๆ ซึ่งใช้เวลาเป็นปีๆ ส่วนใหญ่จะสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าเรามีเทคนิคในการถนอมและดูแลดวงตาของเรา ก็จะสามารถยืดอายุดวงตาของเราให้ห่างไกลจากโรคและความเสื่อมต่างได้นานขึ้น

เทคนิคการดูแลสายตาในเบื้องต้นทำได้ไม่ยาก เริ่มจากอย่าใช้สายตานานจนเกินไป ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้พักสายตาบ่อยๆ หรือการกระพริบตาถี่ๆ ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตาที่เกร็งนานๆ ได้ หากช่วงเวลาไหนต้องอ่านหนังสือควร มีแสงสว่างที่เพียงพอ ส่วนการดูโทรทัศน์ การใช้คอมพิวเตอร์ แทปเล็ต หรือสมาร์ทโฟนต่างๆ ไม่ควรนั่งดูในที่มืด และควรเว้นระยะให้ห่างพอควรอย่านั่งติดจอภาพมากเกินไป ในตอนกลางวันแสงแดดก็สามารถทำร้ายสายตาเราได้เช่นกัน หากต้องออกไปเผชิญแสงแดดกลางแจ้งก็ควรเตรียมไอเท็มสุดชิคอย่างแว่นตากันแดดพกติดตัวไปด้วย อย่างน้อยก็ช่วยกรองแสงยูวีได้ในระดับหนึ่ง และสุดท้ายซึ่งสำคัญมากที่สุดคือการรับประทารอาหาร ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์กับสายตาเป็นประจำ โดยเฉพาะผักสีเหลืองและสีเขียวเข้ม

ทานผักสีเหลืองและสีเขียวเข้มช่วยได้อย่างไร? ในพืชผักและผลไม้ที่มีสีสันเหล่านี้มีสารธรรมชาติอย่าง ลูทีน และ ซีแซนทีน ซ่อนอยู่ สารตัวนี้อยู่ในตระกูลของสารแคโรทีนอยด์ และพบได้ในบริเวณดวงตาของเรานี่เอง โดยเฉพาะตรงบริเวณเลนส์ตาและจอรับภาพตา ในธรรมชาติมีเพียง ลูทีน และ ซีแซนทีน ซึ่งเป็นแคโรทีนอยด์เพียง 2 ชนิด จากกว่า 600 ชนิด ที่พบในจอตา โดย ลูทีน และ ซีแซนทีน ทำหน้าที่ช่วยกรองหรือป้องกันรังสีจากแสงแดดที่เป็นอันตรายต่อดวงตา และช่วยปกป้องเซลล์จอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลายด้วยการลดอนุมูลอิสระ เปรียบเสมือนแว่นกรองแสงที่ทำจากธรรมชาติ ดังนั้นลูทีนและซีแซนทีนจึงทำหน้าที่บำรุงและชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาได้เป็นอย่างดี ซึ่งผักและผลไม้ที่มีสารสองตัวนี้ก็มีหลายชนิด เช่น ข้าวโพด แครอท ฟักทอง ผักกาด ผักปวยเล้ง คะน้า ผักโขม เป็นต้น หากเราบริโภคผักและผลไม้ที่มี ลูทีน และ ซีแซนทีน เป็นประจำก็จะทำให้สายตาห่างไกลจากโรคจุดรับภาพเสื่อมและโรคต้อกระจกได้

ในงานวิจัยเกี่ยวกับโรคจอประสาทตาเสื่อมเองก็มีการศึกษาที่สนับสนุนข้อมูลดังกล่าว โดยพบว่าถ้าปริมาณลูทีนและซีแซนทีนในลูกตาน้อย จะพบความเสี่ยงในการเป็นโรคจอประสาทเสื่อมมากขึ้น และพบว่าถ้ามีลูทีนและซีแซนทีนมากในลูกตา จะพบความเสี่ยงในการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมน้อยลง

มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกากับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าอยู่ในขั้นที่กำลังจะพัฒนาเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมจำนวน 356 คน ช่วงอายุ 55-80 ปี พบว่าการรับประทานอาหารที่มีลูทีน และซีแซนทีน ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยที่ Medical University of Vienna, Vienna, Austria โดยทดลองให้ลูทีนกับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม 126 ราย พบว่าลูทีน ช่วยเพิ่ม macular pigment optical density (MPOD) จริง ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมลง

นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยที่ Harvard School of Public Health, Boston ในผู้ชาย 36,644 คนที่ได้รับอาหารเสริมและวิตามินต่างๆ พบว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมเป็นลูทีนและซีแซนทีน จะลดความเสื่อมของโรคต้อกระจกถึง 19% และที่ University of Massachusetts ทำวิจัยในสุภาพสตรีถึง 50,461 คน พบว่า ลูทีนและซีแซนทีน จะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจกถึง 22% การวิจัยที่ University of Wisconsin Madison Medical School ในผู้สูงอายุ 43-48 ปี จำนวน 1,354 คน พบว่าช่วยลดการเกิดต้อกระจกที่เกิดตรงกลางเลนส์ (Nuclear Cataracts) ได้ถึง 50% จากการวิจัยทั้งหมดนี้จึงเป็นที่ยอมรับว่าลูทีนและซีแซนทีนลดอุบัติการณ์โรค ต้อกระจกในผู้สูงอายุได้จริง

แสดงให้เห็นว่าการบริโภคอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีนสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาเสื่อมและต้อกระจกได้ เพราะฉะนั้นวิธีง่ายๆ ในการป้องกันโรคร้ายเกี่ยวกับดวงตาก็สามารถเริ่มต้นได้ที่การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตาและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำดวงตาของเราเสื่อมก่อนวัยอันควรได้

ดังนั้น เคล็ดไม่ลับในการถนอมดวงตาของเรา จะทำให้เรามองเห็นและชื่นชมความสวยงามของโลกใบนี้ด้วยดวงตาคู่สวยของเราตลอดไปเอกสารอ้างอิง1. J Nutr. 2002; 132(3): 518-24.2. Nutrition. 2003; 19(1): 12-43. Am. J. Nurt. 1999; 70: 517-24.4. Am. J. Clin. Nutr.1999; 70: 509-16.5. Am J Epidemiol. 1999; 149(9): 801-9.6. Adv Pharmacol. 1997; 38: 537-56.7. Arch Ophthalmol. 1993; 111(1): 104-9.8. JAMA. 1994 Nov 9;272(18):1413-20.