เมืองทาโคลบันเป็นจุดสิ้นสุดของการรณรงค์เดินเท้าเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศระยะทาง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 40 วัน การรณรงค์ครั้งนี้จัดขึ้นโดยกรีนพีซพร้อมกับกลุ่มสนับสนุนด้านภูมิอากาศและองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กร (1) ผู้เข้าร่วมการรณรงค์หลักทั้ง 14 คนได้ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบด้านภูมิอากาศและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการฟื้นตัวจากหายนะภัยและผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
นายวอน เฮอร์นันเดซ ผู้อำนวยการบริหารของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า “ชาวฟิลิปปินส์จำเป็นต้องลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาด้านภูมิอากาศในทันที ในช่วงปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยมากนับตั้งแต่ที่ฟิลิปปินส์ถูกพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่ม จริงๆแล้วการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงดำเนินต่อไปและผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ก็ยังคงได้รับผลกำไรเพิ่มมากขึ้น เราจะไม่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้ดำเนินต่อไปโดยเราจะทำให้บริษัทที่หากินกับเชื้อเพลิงฟอสซิลกล่าวคือ ผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ของโลก หันมาอธิบายและรับผิดชอบต่อวิกฤตด้านภูมิอากาศที่พวกเขาก่อขึ้น”
พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้พัดถล่มพื้นที่ตอนกลางและฝั่งตะวันออกของเกาะวิสายัส ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 6,300 คนและอีกเกือบสองพันคนยังคงหายสาบสูญ ประชาชนหลายล้านคนต้องย้ายที่อยู่อาศัย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนกว่าหนึ่งล้านหลังคาเรือน และยังทำลายพื้นที่การเกษตรรวมทั้งสาธารณูปโภคเป็นวงกว้างคิดเป็นมูลค่าถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 6 หมื่น 4 พันล้านบาท
นายวอน เฮอร์นันเดซกล่าวเสริมว่า “เราไม่สามารถยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะที่เป็นมาตรฐานใหม่ได้ ชีวิตและสิ่งแวดล้อมของเราเป็นสิ่งที่ซื้อหาไม่ได้ สิ่งที่เราต้องการคือความเป็นธรรม เราจึงขอเรียกร้องต่อผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ทั้งหลายให้ยุติการปล่อยพลังงานสกปรกและใช้ผลกำไรที่มีอยู่ไปช่วยทำให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมและให้ทุนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ที่เราต้องการ”
นักเรียน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสมาชิกภาคประชาสังคมได้เข้าร่วมกับผู้รณรงค์เดินเท้าเพื่อภูมิอากาศ ได้รวมตัวกันเป็นภาพธงชาติฟิลิปปินส์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเคลื่อนไหวในระดับชาติที่ค่อยๆเติบโตขึ้นในการเรียกร้องความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศในนามของประชาชนหลายพันคนที่เสียชีวิตจากหายนะภัยที่เกิดขึ้นและอีกหลายล้านคนที่ต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยของตนเองเนื่องจากได้รับผลจากสภาพอากาศรุนแรงเช่น พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน
ทั้งนี้ผู้รณรงค์เดินเท้าทั้งหมดพร้อมด้วยนายนาเดเรฟ “เยบ” ซาโน กรรมาธิการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของฟิลิปปินส์ได้เข้าพบกับตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและได้แจกจ่ายชุดเครื่องมือฟื้นฟูด้านภูมิอากาศและร่วมพูดคุยกับชุมชนแถวหน้าที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสภาพอากาศที่รุนแรงรวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้เงื้อมเงาของโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกด้วย
“การเดินเท้าเพื่อภูมิอากาศมีความสำคัญในหลายแง่มุม นับจากนี้ไปไม่ถึงหนึ่งเดือนตัวแทนจากนานาประเทศจะไปรวมตัวกันที่กรุงลิม่า ประเทศเปรู เพื่อหารือถึงข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศโลกใหม่ที่จะจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเดินเท้าเพื่อภูมิอากาศของเราจะดำเนินต่อไปจนกว่าผู้นำระดับโลกจะหันมาลงมือปฏิบัติตามเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศ มันเป็นช่วงเวลาแห่งการนิยามการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในยุคสมัยของเรา” ซาโนกล่าว
นายวอน เฮอร์นันเดซ กล่าวต่อว่า “มันเป็นช่วงเวลาที่ชาวฟิลิปปินส์และผู้ที่ได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องเรียกร้องการชดใช้และความยุติธรรมจากผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ทั้งหลายให้หันมารับผิดชอบต่อการที่นำพาพวกเรามายืนอยู่ตรงปากเหวของวิกฤตภูมิอากาศและวันนี้เราขอเรียกร้องให้ประชาชนทั่วโลกร่วมลงนามและเข้าร่วมกับนักต่อสู้ด้านภูมิอากาศของเรา ซึ่งก็คือ กลุ่มคนที่จะช่วยเหลือเราในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในศาล”
กรีนพีซและเครือข่ายคณะทำงานกำลังเร่งผลักดันให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ยกเลิกการใช้ระบบพลังงานที่พึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลสกปรกทั้งหมดและหันมาพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้กลุ่มสนับสนุนด้านภูมิอากาศยังได้ร้องขอให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและผู้นำระดับโลกยึดมั่นกับเป้าหมายสำคัญในการตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในระดับที่จะช่วยให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะครบกำหนดการรำลึกโศกนาฏกรรมไห่เยี่ยน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ได้ออกแถลงการณ์เตือนภัยจากการค้นพบล่าสุดที่ระบุว่า “ผลกระทบที่รุนแรง กินวงกว้าง และไม่สามารถย้อนกลับคืนได้” จะเกิดขึ้นกับประชาชนและระบบนิเวศหากไม่มีการตัดลดการปล่อยก๊าซที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเข้มงวดในเร็วๆนี้ (2)
หมายเหตุ[1] ผู้จัดงานรณรงค์เดินเท้าเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศได้แก่ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กร Aksyon Klima Pilipinas, กลุ่มพันธมิตร Alyansa Tigil Mina, Bulig Visayas, คณะบิชอปคาธอลิกแห่งฟิลิปปินส์, Dakila, องค์กรเรียกร้องการลงมือปฏิบัติเพื่อต่อสู้กับความยากจนของโลกในฟิลิปปินส์, องค์กรอ๊อกแฟมในฟิลิปปินส์, องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศแห่งฟิลิปปินส์, องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ห่างไกลในฟิลิปปินส์, องค์กร Sanlakas และกลุ่มศาสนาอื่นๆ[2] การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2557 รายงานวิเคราะห์การประเมินผลครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ [3] ประชาชนสามารถร่วมเป็นนักต่อสู้เพื่อภูมิอากาศและร่วมลงนามในเอกสารเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศ ได้ที่ http://act.greenpeace.org/ea-action/action?ea.client.id=1844&ea.campaign.id=33046
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit