องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้การตรวจ HPV DNA เป็นการตรวจคัดกรองแบบปฐมภูมิสำหรับโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นครั้งแรก

10 Nov 2014
องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติ HPV DNA Test ชนิดแรก ให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ HPV DNA Test เพียงอย่างเดียวเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป แล้วแยกแยะต่อว่าจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นอีกหรือไม่ HPV DNATest ที่เป็นเทสต์แรกที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยานี้มีข้อมูลเพียงพอที่จะระบุถึงความเสี่ยงของผู้ป่วยในการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคตได้

HPV DNA Test ที่ได้รับการอนุมัติในครั้งนี้ ใช้วิธีการเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกในการตรวจหา DNA ของเชื้อHPV จำนวน 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยสามารถระบุเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้อย่างเฉพาะเจาะจง และยังสามารถตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงอีก 12 สายพันธุ์ได้ในการตรวจเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ โรคมะเร็งปากมดลูกเกือบทุกกรณีมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อ HPV สายพันธุ์ 16และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70

ดร. อัลแบร์โต กูเตียร์เรซ ผู้อำนวยการ Office of In Vitro Diagnostics and Radiological Health, Center for Devices and Radiological Health จากองค์การอาหารและยา ได้กล่าวในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ขององค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ไว้ว่า “การอนุมัติในครั้งนี้เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับสตรีและแพทย์ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้ เกิดจากการที่บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ ได้ทำการวิจัยอย่างสมบูรณ์และให้ข้อมูลเพียงพอในการสร้างความมั่นใจต่อองค์การอาหารและยาถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเทสต์ในการตรวจคัดกรองแบบปฐมภูมิสำหรับโรคมะเร็งปากมดลูก”

ทางด้านนายแพทย์วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “การศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง HPV และมะเร็งปากมดลูกมีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างมากมายในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และพบว่าการป้องกันโดยวิธีตรวจคัดกรองด้วย HPV DNA Test มีความไวต่อการตรวจพบได้ดีและสูงกว่าวิธีดั้งเดิมเช่นแพปสเมียร์ (Pap smear) และ วีไอเอ (VIA) แม้ว่าแพปสเมียร์จะได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและใช้มาเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เคยได้รับการทำวิจัยเป็นระบบที่ชัดเจน ในขณะที่ HPV DNA Test ปัจจุบันมีการทำวิจัยมาแล้วว่ามีศักยภาพและประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองได้ไวกว่า ซึ่งเมื่อองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาให้การรับรองก็ย่อมสนับสนุนและทำให้สูตินรีแพทย์มีความมั่นใจในการใช้ HPV DNA Test เป็นการตรวจคัดกรองในแบบปฐมภูมิมากขึ้น เชื่อว่าหนทางที่จะลดมะเร็งปากมดลูกในประเทศเราด้วยวิธีตรวจคัดกรองแบบเดิมคงเป็นไปได้ช้า และเราจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น และมีวิธีที่มีความไวสูงกว่าการคัดกรองด้วยวิธีเดิมๆ ที่เราใช้กัน”

นอกจากความไวในการตรวจพบที่ดีกว่าแพปสเมียร์แล้ว การใช้ HPV DNA Test ยังมีข้อดีอื่นๆ อันได้แก่ HPV DNA Test ไม่ต้องผ่านขั้นตอนในการตรวจวิเคราะห์โดยใช้บุคลากรทางการแพทย์มากนัก ทำให้ลดข้อผิดพลาดต่างๆ ให้น้อยลงได้ อีกทั้งการเก็บตัวอย่างก็ไม่ยุ่งยาก จึงทำให้มีความสะดวกมากกว่า และโอกาสผิดพลาดน้อยลง

“ถ้าพูดในทางเทคนิคและเชิงวิชาการ แน่นอนครับเราสนับสนุนให้ใช้ HPV DNA Test เป็นการตรวจคัดกรองแบบปฐมภูมิได้ ในปัจจุบัน แนวทางเวชปฏิบัติของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแพปสเมียร์อยู่ ซึ่งหากจะมีการพิจารณาให้ใช้ HPV DNA Test เป็นการตรวจคัดกรองแบบปฐมภูมิก็จะต้องมีการทำวิจัยในประเทศไทยเอง และศึกษาเรื่องความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทยก่อน”

“ปัจจุบัน มะเร็งปากมดลูกถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากว่ายังมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดในบรรดามะเร็งของสตรี ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกจะเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่อัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากมะเร็งปากมดลูกยังมากกว่ามะเร็งเต้านม นั่นหมายความว่า ในระบบของเรายังมีช่องว่างที่เราสามารถจะเข้าไปปรับปรุงและแก้ไขเพื่อลดอุบัติการณ์ และอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้อีกมาก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละประมาณ10,000 ราย และเสียชีวิตประมาณปีละ 5,000 ราย หรือโดยเฉลี่ยพบว่ามีอัตราเสียชีวิตประมาณ 14 รายต่อวัน”นายแพทย์วิสิทธิ์ กล่าวเสริม

จากงานวิจัยพบว่าเชื้อ HPV ประมาณ 40 สายพันธุ์จะติดที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งหญิงและชาย ดังนั้นการติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่เกิดจากเพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ จากข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ประเทศสหรัฐอเมริกา การติดเชื้อ HPV เป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีเชื้อ HPV ประมาณ 14 ใน 40 สายพันธุ์ ที่จัดเป็นสายพันธุ์เสี่ยงสูงโดยมีความสัมพันธ์กับการก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่การติดเชื้อ HPV จะถูกขจัดออกไปได้เอง และไม่ก่อให้เกิดอาการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ประมาณร้อยละ 10 ของสตรีที่ติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงจะมีการติดเชื้ออย่างถาวรซึ่งอาจทำให้สตรีผู้นั้นเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก

“กระผมอยากแนะนำให้สูตินรีแพทย์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีของการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ที่มีอยู่และอาจมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้มีประสิทธิภาพและราคาถูกลงนอกเหนือจากแพปสเมียร์ที่เคยใช้กันมา เราสามารถจะหาความรู้เพิ่มเติมได้จากงานประชุมวิชาการ จากเว็ปไซต์ของสมาคมฯ และข้อมูลจากวารสารต่างๆ ทางสมาคมฯมีปณิธานที่จะรณรงค์ให้มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยลดลงจนหมดไปจากหญิงไทย จึงมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการให้ความรู้ทางวิชาการกับแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปในเรื่องนี้อย่างจริงจัง” นายแพทย์วิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย