ทั้งนี้ คปก.ได้เคยจัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง แนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2556 โดยมีสาระสำคัญมุ่งส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศในทุกมิติของสังคมอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ตลอดจนคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ รวมถึงช่วยเหลือคุ้มครองและบรรเทาทุกข์ผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติ
ร่างพรบ.ฉบับคปก.กำหนดห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทั้งในทางตรงและทางอ้อมในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน โดยควบคุมการดำเนินงานของรัฐและเอกชนในทุกระดับมิให้มีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ พร้อมทั้งส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศในทุกมิติอย่างทั่วถึง
พร้อมกันนี้ คปก.เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ (วลพ.) ให้มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยคำร้องการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ และให้มีอำนาจตรวจสอบ ไต่สวนข้อเท็จจริงประกอบการวินิจฉัยและฟ้องคดีต่อศาลแทนผู้ร้อง โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีความอิสระในการบริหารงาน
อีกทั้ง คปก.ยังได้กำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการยื่นคำร้องและการตรวจสอบการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศไว้โดยหากผู้กระทำได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนในเชิงลงโทษแก่ผู้เสียหายไม่น้อยกว่าสี่เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง และบัญญัติโทษทางอาญาไว้สำหรับผู้ที่กระทำการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศที่กระทำโดยทุจริตหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะให้ต้องโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit