“เมื่อก่อนเวลาไปทำนา จะพกผลส้มซ่าไว้รับประทาน ช่วยให้สดชื่น หายเหนื่อย ผิวส้มซ่าไว้สูดดมแก้วิงเวียน เวลาสระผมก็นำผลมาผ่าครึ่งชะโลมผม หรือขัดมือ ขัดเท้า ให้ความสะอาด ลดความแห้ง หยาบกร้าน”
นางเผอิญ พงษ์สีชมพู เล่าเท้าความวิถีชีวิตในอดีตของชาวหมู่บ้านวังส้มซ่า หมู่ 1 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งทุกบ้านจะมีต้นส้มซ่าปลูกประจำบ้านอย่างน้อย 1 ต้น จนเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน
“เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ชาวบ้านหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้ต้นส้มซ่าค่อย ๆ หายไป ในที่สุดเหลือต้นส้มซ่าดั้งเดิมอยู่เพียงต้นเดียว ชาวบ้านจึงรวมตัวกันอนุรักษ์ส้มซ่า”
วิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า จึงก่อกำเนิดขึ้น ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.)
จากจุดเริ่มต้นของแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บนรากฐานของศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงก่อเกิดผลงานชิ้นเอกของชุมชน นั่นคือ ลิปกลอสส้มซ่า “โจทย์ของเราก็คือ ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความแตกต่างจากท้องตลาด มีความทันสมัย โดดเด่น ในขณะที่ยังคงภูมิปัญญาของท้องถิ่นเรา ในที่สุดจึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลริมฝีปากที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากสารสกัดเซลล์เนื้อเยื่อเจริญของส้มซ่า สามารถใช้ได้ทุกช่วงเวลาและโอกาส ตัดสินใจซื้อง่ายเพราะราคาไม่แพง และยังซื้อเป็นของฝากได้อีกด้วย” นางสาววรัญญา หอมธูป ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า เล่าที่มา
“ลิปกลอสส้มซ่ามีความโฉบเฉี่ยว สดใส ด้วยรูปลักษณ์ ๕ สี แทนผู้หญิง ๕ สไตล์คือ สีแดงสำหรับสาวร้อนแรง สีชมพูสาวอ่อนหวาน สีส้มสาวสดใส สีน้ำเงินสาวลึกลับ และสีทองสำหรับสาวหรูหรา ให้สาว ๆ แต่ละคนเลือกใช้ได้ตามบุคลิก ความชอบ”
ด้วยกระบวนการ วิธีคิด ทำให้ลิปกลอสส้มซ่าได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคเหนือและรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในการเข้าสู่ตลาด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2557
วันนี้ลิปกลอสส้มซ่าจึงได้รับความสนใจ ไม่ใช่เพียงในประเทศเท่านั้น ชุมชนยังมุ่งส่งออกตลาดต่างประเทศ พร้อมกับผลิตภัณฑ์ส้มซ่าชนิดอื่น ได้แก่ สบู่เหลว แชมพู ครีมนวดผม และลิบบาล์ม
รางวัลนับเป็นความภาคภูมิใจ การันตีคุณภาพ แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือ ต้นส้มซ่าพลิกฟื้นกลับคืนสู่ชุมชนบ้านวังส้มซ่า ชาวบ้านมีงานทำ มีรายได้ และยังเตรียมต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อื่น เช่น น้ำผลไม้ส้มซ่า หมี่กรอบส้มซ่า และคุ้กกี้ส้มซ่า
นี่คือแบบอย่างของการฟื้นฟู พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ผงาดอยู่ในสังคมแห่งเทคโนโลยีและการแข่งขันได้อย่างสง่างาม นับเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากพลังของชุมชนโดยแท้
สนใจอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากส้มซ่า และสมุนไพรอื่น ๆ เช่น กล้วย ธัญพืช มะหาด ได้ที่ 08 9958 6622
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit