นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสหภาพยุโรปได้ส่งสัญญาณเตือนมายังสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตรประจำกรุงบรัสเซลล์ สหภาพยุโรป เกี่ยวกับระบบการตรวจสอบการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังอียูตามกฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing) ซึ่งพบว่ายังฝ่ายไทยยังดำเนินการได้ไม่เข้มงวดนัก ตามที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบระบบการจัดสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก ดังนั้น แม้ในการแจ้งเตือนจะยังเป็นการประสานงานในระดับเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่การเตือนในระดับรัฐบาล แต่กระทรวงเกษตรฯ เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญที่ต้องปรับปรุงและแก้ไขให้เป็นไปตามคำแนะนำของฝ่ายอียู โดยจะปรับปรุงใน 3 กระบวนการหลักได้แก่ 1. การแก้ไขกฎหมาย เพื่อควบคุมกิจกรรมเกี่ยวกับการทำการประมงแบบครบวงจร ซึ่งจะเอื้อต่อการทำประมงตามหลัก IUU ด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. ... สนช.มีมติรับหลักการผ่านวาระ 1 เรียบร้อยแล้ว และจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาภายใน 30 วันจากนั้นก็จะสามารถประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ 2. การเร่งจัดทำระบบติดตามเรือ หรือ VMS เพื่อติดตามตรวจสอบการทำประมงของไทยซึ่งในด้านผู้ประกอบการเรือประมงขนาดใหญ่ที่สามารถลงทุนดำเนินการในด้านนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในส่วนของประมงขนาดเล็ก ภาครัฐก็จะพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว 3. ระบบการตรวจสอบย้อนกลับว่าสินค้าประมงดังกล่าวได้มาจากแหล่งใด ขึ้นท่าเทียบที่ไหน จำนวนการจับกับเอกสารแสดงตามอาชญาบัตรตรงกันหรือไม่“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนเรือ การควบคุมชายฝั่งท่าเรือ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหากทางอียูออกใบเหลืองเตือนไทยอย่างเป็นทางการแล้วหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วมีการออกใบแดง ที่หมายถึงการห้ามการนำเข้าสินค้าประมงไปยังสภาพยุโรปจะกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าประมงไทยอย่างมาก เนื่องจากอียูเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย ซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 32,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.9 แสนตัน/ปี” นายปีติพงศ์ กล่าว
ด้านนายจุมพล จุลสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าสิ่งที่ทางเจ้าหน้าที่อียูส่งมาตรวจระบบการตรวจสอบของไทยในครั้งนี้ จะไม่ใช่ความผิดพลาดหรือบกพร่องในกระบวนการดำเนินการของไทยแต่อย่างใด แต่เป็นการขอความร่วมมือในการปรับกระบวนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบ IUU เพื่อให้ยังคงไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเล และป้องกันสินค้าประมงที่ไม่ปฏิบัติตาม IUU ซึ่งหากฝ่ายไทยไม่เข้มงวดในระบบการตรวจสอบสินค้าประมงทางทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าทูน่าที่ไทยมีการนำเข้าจากประเทศอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของอียูได้ ภายในระยะเวลา 3 เดือนไทยก็อาจจะตกอยู่ในสถานะประเทศที่ถูกจับตาเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หรือใบเหลือง และอาจถูกใบแดง และทำให้เกิดปัญหากระทบวงกว้างได้ สำหรับประเทศที่ได้ใบเหลืองจากอียูแล้ว คือ เกาหลีใต้ ฟิลลิปินส์ ประเทศที่ได้ใบแดง มี กัมพูชา ฟิจิ กีนี ปานามา ศรีลังกา โตโก วานูอาตู" อธิบดีกรมประมง กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit