ในการสร้างบุคลากรวิศวกรดนตรีป้อนสู่วงการดนตรี ข่าวสารและบันเทิงของไทย และพัฒนายกระดับคุณภาพของวงการดนตรีบ้านเราให้ก้าวไกลและมีคุณภาพยิ่งขึ้น สาขาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล) โดยผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน ประธานหลักสูตรวิศวกรรมดนตรี ร่วมกับคุณเกษมสิน กาญจนชัยภูมิ บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ เป็นประธานงานพิธีเปิดห้องปฏิบัติการบันทึกเสียง และพิธีไหว้ครูดนตริของเหล่านักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม โดยมีผู้มีชื่อเสียงในวงการดนตรี ภาพยนตร์มาร่วมงาน อาทิ พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ดนู ฮันตระกูล, พงศธร กาญจนชัยภูมิ, สุวรรณา วังโสภณ, พล ยนตรรักษ์, ศุภเสกข์ แสนมโน, มร.เบรทท์ เรดิซิช, ผศ.ประภัสสร เลิศอนันต์, บุณย์ชนะ ภู่ระหงษ์, โสฬส ปุณกะบุตร, มร.แดเนียล เชา เป็นต้น
ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการสื่อสารดนตรีและบันเทิงในประเทศไทยและเอเซียมีการเจริญเติบโตมากและมีบทบาทด้านสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง คณะวิศวกรรมลาดกระบังได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม (Music Engineering & Multi Media) เป็นปีแรก และในวันนี้ได้ทำพิธีเปิดแล็บวิศวกรรมดนตรีและมัลติมีเดียขึ้น โดยเป็นห้องปฏิบัติการบันทึกเสียง Mahajak Studio ซึ่งเป็น1 ใน 7 ห้องปฏิบัติการที่ก้าวล้ำในระบบการเรียนรู้แบบมุ่งผลลัพธ์ ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ในการผลิตงานด้านบันเทิง ได้แก่ ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เน้นการนำความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ สื่อสารโทรคมนาคม และไอที มาประยุกต์ร่วมกับศิลป์ คือ ดนตรี องค์ประกอบทางแสง สี เสียง กราฟิกและแอนิเมชั่น เข้าด้วยกันด้วยความสนับสนุนร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมดนตรีบันเทิง มหาจักรดีเวลลอปเม้นท์ สยามดนตรียามาฮ่า คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันเอสเออี “
ไชยบัณฑิต พืชผลทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอะคุสติกซาวน์ดีไซน์ มือหนึ่งของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ออกแบบห้องปฎิบัติการแห่งนี้ กล่าวว่า “ ห้อง Mahajak Studio ใช้สำหรับการเรียนการสอนวิศวกรรมดนตรี ขนาดห้องพื้นที่ 70 ตารางเมตร คอนเซ็ปท์ดีไซน์เป็น Minimal เรียบง่ายแต่ให้ประสิทธิผลสูงด้านคุณภาพเสียงมาตรฐานสากล แทนการปะปูดวัสดุโน่นนี่เต็มไปหมด เราใช้การคำนวณและดีไซน์มาช่วย ในเฟสแรกนี้สร้าง 2 ส่วน คือ ห้องคอนโทรล และห้องอัดเสียง ซึ่งต่อขยายสำหรับอัดบันทึกเสียงได้แต่ละเซ็คชั่นโดยเสียงไม่รบกวนกัน เช่น กลองชุดห้องหนึ่ง วงสตริงห้องหนึ่ง นักร้องอีกห้องหนึ่ง รูปทรงห้องออกแบบเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู บางห้องตัดเหลี่ยมตรงมุมห้อง เพื่อช่วยลดผลกระทบจากเสียงสะท้อน เนื่องจากผนังคู่ขนานจะเกิดเสียงสะท้อนได้ง่ายกว่า โครงสร้างห้องก่อด้วยอิฐมวลเบาปิดทับด้วยวัสดุซึมซับเสียง FELT ที่มีความหนาแน่นสูง และไม่ปล่อยสิ่งที่ระคายต่อระบบลมหายใจและสิ่งตกค้างในอากาศสิ่งแวดล้อม ส่วนประตูแทนที่จะใช้ประตูเหล็กแล้วติดขอบยางอย่างสตูดิโอทั่วไปซึ่งนานไปยางจะตาย กันเสียงไม่ได้ เราออกแบบเป็นประตูไม้ เอียงวงกบรับกับเหลี่ยมลาดของประตูพอดีให้เป็นสุญญากาศ ด้านอุปกรณ์สำหรับการบันทึกเสียงใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มิกเซอร์ขนาดใหญ่สำหรับสอนการบันทึกเสียง และมิวสิคคอมพิวเตอร์ ไมโครโฟนพิเศษหลายชนิดที่เหมาะกับการใช้งานภายในสถานที่ซึ่งจะต่างจากประเภทที่ใช้กับการแสดงคอนเสิร์ต “
ดร.ดนู ฮันตระกูล ศิลปินรางวัลศิลปาธร นักประพันธ์เพลง ผู้ก่อตั้งวงไหมไทยที่โด่งดัง กล่าวว่า “ดนตรีนั้นสื่อสารในตัวของมันเอง ออกมาสู่สายตาผู้คนได้นั้นไม่เพียงการแสดง แต่ยังมาในรูปแบบของสื่ออื่นๆ เช่น ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ดนตรีประกอบละคร ดนตรีประกอบการแสดงสดต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยก็มีงานประเภทนี้เกิดขึ้นมากมาย และในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับวิศวกรรมดนตรีนั้นสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาในด้านต่างๆของไทยได้มาก เพราะเรื่องของการผลิตและควบคุมเสียงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือแค่เอาไมค์ไปจ่อแล้วจะได้เสียงนั้นๆออกมา แต่เราต้องวางแผนและดีไซน์เป็นอย่างดี ว่าจะสร้างเสียงออกมาในรูปแบบไหน ทั้งเสียงสด เสียงไฟฟ้า หรือเสียงจากเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ จะแสดงออกมาอย่างไร รูปแบบไหน ความคิดของงานแสดงและงานดนตรีนั้นมีความซับซ้อนมาก ซึ่งระบบและความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมดนตรีจะเข้ามาช่วยตอบคำถามและความต้องการที่จะสร้างสรรค์งาน เขาจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้อีกมากมาย อยากจะฝากให้น้องๆต้องขยันคิด ขยันทำ แล้วทุกอย่างจะสำเร็จได้ ไปให้ถึงเป้าหมายที่เราต้องการ”ณวัสน์ ภู่พันธัชสีห์ นักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม กล่าวว่า “ผมรู้สึกชอบและสนใจทางด้านฟิสิกส์และดนตรีอยู่แล้ว ฝันอยากทำงานเกี่ยวกับพวกผลิตเสียงในภาพยนตร์ พอเข้ามาเรียนแล้วทำให้ผมรู้จักดนตรีมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์จากอาจารย์และเพื่อนๆ ชอบมากที่สุดคือ การฝึกหู เพราะทักษะด้านการฟังสำคัญมาก ต้องรู้ว่าเสียงที่เราได้ยินแต่ละตัวนั้นคือตัวโน๊ตอะไร ประทับใจคำพูดหนึ่ง “เห็นทุกอย่างที่ได้ยิน ได้ยินทุกอย่างที่เห็น” รู้สึกว่ามันใช่เลย ผมว่าไม่ยากครับที่ไทยจะทัดเทียมประเทศอื่นๆในด้านวิศวกรรมดนตรีได้ หากเราตั้งใจพัฒนากันจริงจังและมุ่งมั่นไปให้ถึง เมื่อเพิ่มบุคลากรที่มีเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น จะทำตลาดในอาเซียนได้กว้างขึ้น”ปวริศ ชูประเสริฐ หนุ่มนักศึกษา วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ผมแค่เล่นดนตรีอย่างเดียว รู้สึกสะกิดใจมากกับหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม จึงไม่ลังเลเลยที่จะเข้ามาเรียน ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมายทั้งทฤษฎีดนตรี เทคนิคการอ่านตัวโน๊ต ซาวน์เอ็นจิเนียริ่ง ทำให้รู้จักดนตรีลึกซึ้งมากขึ้น อนาคตข้างหน้าผมฝันอยากเป็นคนออกแบบระบบเสียงในโรงหนัง เพราะอยากให้คนที่เข้าไปดูหนังทุกคนมีความสุข ได้รับอรรถรสในการชมเต็มอิ่ม เสียงเป็นสื่อสำคัญยิ่งที่ทำให้หนังสะเทือนอารมณ์ สมจริงยิ่งใหญ่ และประทับใจคนดู วิศวกรรมดนตรีจะช่วยสนองความต้องการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สร้างรายได้มหาศาล ภาพยนตร์ยังเป็นศิลปะและสื่อวัฒนธรรมของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย”
อัจฉราพรรณ เคลิ้มวิลัน สาวน้อยนักศึกษา วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม กล่าวว่า “มีความสุขที่ได้เรียนในสิ่งที่รักและทำในสิ่งแปลกใหม่ที่ชอบอีกด้วย วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสมสามารถตอบโจทย์ให้กับตัวเองได้ วิชาที่ชอบที่สุดตอนนี้ คือ ทักษะการเล่นคีย์บอร์ด เมื่อก่อนแค่เล่นดนตรีตามความรู้สึกของเรา แต่พอได้มาเรียนรู้เทคนิคต่างๆมากขึ้น ทำให้เพลงที่เราเล่นออกมานั้นมันสนุกและได้อารมณ์มากขึ้น อนาคตอยากเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดูแลเรื่องเสียง ได้ควบคุมการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ๆ สำหรับประเทศไทยถ้าอยากทัดเทียมประเทศอื่นๆในด้านวิศวกรรมดนตรี ต้องศึกษาวิจัยและหาเป้าหมายที่ชัดเจนก่อนว่าชอบอะไร แนวไหน ไม่ใช่ไปลอกเขามาทั้งหมดอย่างที่ทำกันอยู่ ควรดูประเทศอื่นๆเป็นตัวอย่างแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในแบบฉบับของตนเอง”
ภาพที่ คำอธิบายภาพ
1. ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวลาดกระบัง และบุคคลในวงการร่วมแสดงความยินดี
2. ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวลาดกระบัง
3. ดนู ฮันตระกูล ผู้ก่อตั้งวงไหมไทย และศิลปินรางวัลศิลปาธร
4. ณวัสน์ ภู่พันธัชสีห์ หนุ่มน้อยนักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม
5. ปวริศ ชูประเสริฐ นักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม
6. อัจฉราพรรณ เคลิ้มวิลัน นักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit