ย้อนรอยที่มา “ปลาทับทิม” โปรตีนคุณภาพ สร้างอาชีพเกษตรกรไทย

04 Nov 2014
ไม่เพียงเมนูจากเนื้อปลาจะสามารถฉีกความจำเจในการบริโภคเนื้อสัตว์ของคนไทย แต่การบริโภคเนื้อปลายังส่งผลดีต่อสุขภาพเพราะเนื้อปลาอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่าย มีกรดไขมันชนิดดีอยู่มาก ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนึ่งในปลาที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานก็คือ “ปลาทับทิม” ปลาน้ำจืดสีชมพูอ่อน ที่ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและเนื้อปลาก็สวยชวนรับประทาน มีเส้นใยกล้ามเนื้อแน่น ละเอียด เนื้อหวานรสชาติดี มีไขมันต่ำมากจึงปราศจากกลิ่นที่เกิดจากไขมันในตัวปลา และที่สำคัญยังมีกรดไขมันประเภทไม่อิ่มตัว ชนิดโอเมก้า-3 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลายคนจึงต้องยกให้ปลาทับทิมเป็นหนึ่งในเมนูจานโปรด สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร และช่วยสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างดี

หากแต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่าประโยชน์ที่กล่าวมา กลับเป็นเรื่องราวความเป็นมาที่ไม่ธรรมดาของปลาชนิดนี้ เนื่องจากปลาทับทิมไม่ใช่ปลาพื้นถิ่นของไทย ไม่มีต้นกำเนิดสายพันธุ์ที่หาพบได้ตามธรรมชาติของบ้านเรา แต่เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ปลาที่มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ทวีปแอฟริกา ที่ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้นำทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลาพันธุ์ดังกล่าวในบ่อปลาสวนจิตรลดา จนเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และพระราชทานชื่อว่า “ปลานิลจิตรลดา” ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่าปลาที่ทดลองเลี้ยงเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อว่า ปลานิล ที่มีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม (ชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica) และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 ทรงพระราชทานพันธุ์ปลาจำนวนหนึ่งแก่กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร และปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากปลานิลสามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย กินอาหารได้ทุกชนิด ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี

ต่อมาในปีพ.ศ.2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล เนื่องจากขณะนั้นกระแสความนิยมบริโภคเนื้อปลาเพื่อรักษาสุขภาพมีมากขึ้น แต่ปลาทะเลกลับลดปริมาณลงเรื่อยๆ กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซีพีเอฟ จึงได้เริ่มวาง โครงการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ด้วยการนำปลานิลจิตรลดาพระราชทาน มาเป็นต้นตระกูลเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ตามแนวพระราชดำริ โดยคัดเลือกสายพันธุ์ปลานิล ทั้งจากอเมริกา อิสราเอล และไต้หวัน ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นมากในด้านต่างๆ โดย ปลาอเมริกาเป็นปลาที่สีแดงสวยและทนต่อความเค็มของน้ำได้ดี ส่วนปลาอิสราเอลเป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้ในความหนาแน่นสูงมากๆ และปลานิลไต้หวันเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็ว ด้วยการนำปลาเหล่านี้มาผสมข้ามพันธุ์กันและปรับปรุงสายพันธุ์ทางด้านคุณภาพให้ดีขึ้น โดยวิธีตามธรรมชาติ ไม่ใช้การตัดแต่งพันธุกรรม (Non-GMOs) จากนั้นจึงคัดเลือกลักษณะเด่นต่างๆ กระทั่งได้ปลาเนื้อพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะภายนอกอันโดดเด่น คือ สีของเกล็ดและตัวปลาที่มีสีขาวอมแดงเรื่อๆ ถึงสีแดงอมชมพู คล้ายทับทิม เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามปลาชนิดใหม่นี้ว่า “ปลาทับทิม” ที่สำคัญยังมีลักษณะเด่นที่ความอดทนสามารถเลี้ยงได้ดีในน้ำกร่อย (ทั้งปลาทับทิมและปลานิลถูกเรียกว่าเป็นปลา 2 น้ำ) เนื้อแน่น มีรสชาติอร่อยกว่าปลานิลธรรมดา

เรื่องการปรับปรุงพันธุ์ปลานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเราเท่านั้น หากแต่ในหลายประเทศก็ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้เหมาะสมกับการเลี้ยงในประเทศของตนเอ ทั้งในอเมริกา อิสราเอล มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งประเทศที่กล่าวมาเหล่านี้ทำล้วนปรับปรุงสายพันธ์ปลานิลมาเป็นระยะเวลายาวนานทั้งสิ้น ส่วนเรื่องสีสันของปลานั้นก็จะได้มาจากลักษณะเด่นของพันธุ์ปลาที่นำมาผสมพันธุ์ตามธรรมชาตินั่นเอง เช่น ปลานิลอินโดนีเซียมีสีเข้มออกสีน้ำเงินและมีความต้านทานต่อสภาพอุณหภูมิต่ำได้อย่างดี ปลามาเลเซียสีชมพูอ่อนๆเกือบขาว ส่วนปลาทับทิมไทยถูกปรับปรุงพันธุ์ให้มีสีออกแดงอมชมพูเพื่อให้ดูโดดเด่นเมื่อเทียบกับปลานิลที่มีสีดำ เป็นต้น

นอกจากปลาทับทิมจะมีข้อดีด้านคุณค่าทางโภชนาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ปลาชนิดนี้ยังมีปริมาณเนื้อมาก และมีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วในระยะเวลาเพียง 4-5 เดือน ทางกรมประมงจึงส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาทับทิมเป็นอาชีพในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใสสะอาด ปราศจากมลภาวะ ไม่มีการใช้ยาและสารเคมีที่ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในตัวปลา และได้วางมาตรฐานการปฏิบัติทางการประมงที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ (Good Aquaculture Practice : GAP) ที่เป็นเหมือนเครื่องหมายยืนยันคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะทำให้ปลาที่เลี้ยงออกมามีมาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ปรับปรุงสายพันธุ์ปลาทับทิมก็ได้ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังตามมาตรฐานแก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรไทยมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย การดูแลไม่ยุ่งยาก เกษตรกรสามารถเลี้ยงได้แม้จะมีทุนน้อย ทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผลผลิตปลาเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากมีผู้นิยมบริโภคทั่วไป ร้านอาหาร โต๊ะจีน ที่ต่างนิยมนำปลาทับทิมมาทำเป็นอาหาร จึงกลายเป็นปลาเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน