การจัดสัมมนาเรื่อง ตามติดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบถึงแนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจไทยและอุตสาหกรรมไทยในปีหน้า ตลอดจน สถานการณ์เศรษฐกิจโลก สถานการณ์การลงทุน สถานการณ์ด้านพลังงาน ที่อาจส่งผลกะทบต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจจากความไม่แน่นอนของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
นายพิภพ โชควัฒนา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2557 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีปัจจัยลบเข้ามากระทบอยู่รอบด้าน เริ่มตั้งแต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่กินระยะเวลากว่า 6 เดือน ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาวะเศรษฐกิจไทยลดลง การบริโภคภายในประเทศทรุดตัวลง การลงทุนของภาครัฐหยุดชะงัก นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติชะลอการลงทุน นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวลดลง โดยเศรษฐกิจไทยไม่เพียงแต่เผชิญกับการหดตัวลงของอุปสงค์ภายในประเทศเท่านั้น อุปสงค์ภายนอกที่สะท้อนผ่านภาคการส่งออกก็ยังหดตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ล่าช้า ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ด้วยปัจจัยรุมเร้าต่างๆ ข้างต้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกหดตัวร้อยละ 0.1
นายพิภพ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2557 เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจน ภายหลังการเข้ามาบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตลอดจนการจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถเข้ามารับหน้าที่ปฏิรูปและบริหารประเทศได้ ช่วยเรียกคืนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติกลับคืนมา รวมถึงมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณค้างจ่ายของปี 2557 และเร่งจัดทำงบประมาณในปี 2558 ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันตามกำหนดเวลา เป็นต้น การดำเนินการ..
การดำเนินการเหล่านี้ได้ทำให้ภาพของเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่การหดตัวของเครื่องชี้มีขนาดเล็กลง เช่น การบริโภคเอกชนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มทยอยกลับเข้ามาเที่ยวในเมืองไทย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจยังไม่ชัดเจนจากปัจจัยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ประกอบกับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยที่เริ่มลดลง จากศักยภาพการผลิตที่ปรับไม่ทันกับความต้องการของตลาดโลก
สำหรับเศรษฐกิจในปี 2558 จะมีทิศทางอย่างไร เป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลายๆ ท่าน และเพื่อตอบคำถามดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้จัดการสัมมนา ตามติดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2558 เพื่อนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับทิศทางภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปี 2558 และโอกาสในการนำเนินธุรกิจเพื่อเป็นการวางแผนและการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015 เพื่อเตรียมความพร้อมในการการปรับตัว การกำหนดมาตรการเชิงรุกและเชิงรับ และใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในการพัฒนาศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม พร้อมทั้งการแสวงหาโอกาสพร้อมๆ กับเตรียมการรองรับสภาวะการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากกระแสของการเปิดเสรี ซึ่งนับเป็นสิ่งท้าทายต่อประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดยมีวิทยากรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเสวนา ดังนี้
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน
โดยมี นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการเสวนาดังกล่าว..