นอกจากนี้จังหวัดชลบุรียังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 5 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ มาบประชัน อ่างฯ ซากนอก อ่างฯ หนองกลางดง อ่างฯ ห้วยสะพาน และอ่างฯห้วยขุนจิต ขณะนี้มีน้ำใช้การได้รวม 26 ล้านลบ.ม. ซึ่งในพื้นที่บริเวณนี้จะมีความต้องการใช้น้ำช่วงแล้งนี้ราว 15.5 ล้านลบ.ม ดังนั้นมีน้ำใช้การเหลืออีก 10.5 ล้านลบ.ม.
ส่วนจังหวัดระยอง ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างคลองใหญ่ หนองปลาไหล และดอกกราย ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายน้ำ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกัน 221 ล้านลบ.ม. รวมทั้งการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ 36 ล้านลบ.ม. ประกอบกับมีปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างน้อย 35 ล้านลบ.ม. ทำให้จังหวัดระยองมีปริมาณน้ำต้นทุนรวมประมาณ 292 ล้านลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำตลอด 6 เดือน ในช่วงฤดูแล้งประมาณ 180 ล้านลบ.ม. เท่านั้น สำหรับ 6 จังหวัดทางภาคตะวันออกที่เหลือ คือ ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ก็มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเช่นกัน
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้งดการส่งน้ำเพื่อทำนาปรังแล้ว จะเหลือเพียงการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประปา การรักษาระบบนิเวศน์ของ ลำน้ำ และน้ำเพื่อการปลูกพืชไร่พืชผักที่ใช้น้ำน้อยเท่านั้น โดยจะทำการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์รวมกัน วันละ 10 ล้านลบ.ม. และจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์รวมกันอีกวันละ 6 ล้านลบ.ม.
“กรมชลประทานขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดปลูกข้าวนาปรัง แม้ขณะนี้จะเห็นว่าลุ่มเจ้าพระยามีน้ำท่าปกติ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีฝนตกทำให้มีน้ำตามธรรมชาติค้างอยู่ แต่คาดว่าน้ำตามธรรมชาติจะหมดเมื่อสิ้นสุดเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งหากฝืนทำนาปรังจะเสี่ยงต่อการขาดน้ำ นาข้าวเสียหายได้” รองอธิบดีกล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำของประเทศโดยรวมยังคงมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ อย่างเพียงพอ แต่สำหรับน้ำเพื่อภาคการเกษตรจะไม่เพียงพอในบางพื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือในพื้นที่ชลประทานของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ภาคอีสานในพื้นที่ชลประทานของเขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำแซะ เป็นต้น ส่วนภาคกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ทางกรมชลประทานได้ออกประกาศงดการส่งน้ำไปแล้ว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit