นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา (ก.ค.-ก.ย. 57) ลูกค้าต่างประเทศมารับน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาล 1,056.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลมียอดขาย 349.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ประกอบกับการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 220.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 125.31 ล้านบาท
“โรงงานน้ำตาลของเราทั้ง 3 โรงงาน จะเริ่มทำการผลิต (เปิดหีบอ้อยของฤดูการผลิต 57/58) ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งบริษัทฯ มีแผนที่จะทำการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้า KTBP ตั้งแต่ช่วงทดลองเครื่องจักรในเดือนพฤศจิกายนนี้ สำหรับธุรกิจเอทานอลก็ยังคาดว่าจะมีผลประกอบการที่ดีในช่วงไตรมาสที่ 4 เนื่องจากราคาของเอทานอลยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดังนั้นเชื่อว่าผลประกอบการของ KTIS ในไตรมาสที่ 4 จะยังคงดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
สำหรับตัวเลขผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 2557 (ม.ค.-ก.ย.57) บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 1,386.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นกำไรสุทธิที่มากกว่าตัวเลขทั้งปีของปี 2556 ซึ่งทำกำไรสุทธิได้ 1,263.84 ล้านบาท โดยรายได้งวด 9 เดือนของปี 2557 เท่ากับ14,152.10 ล้านบาท จำแนกสัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้ดังนี้ การผลิตและจำหน่ายน้ำตาล 74.2% การขายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย 10.0% การผลิตและจำหน่ายเอทานอล 9.0% ไฟฟ้าชีวมวล 3.8% และอื่นๆ 3.0%
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์กลุ่มเคทิส เปิดเผยอีกว่า ด้วยความพร้อมของกลุ่มเคทิส ทั้งในด้านของฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง บุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างกลุ่มซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และนิสชิน ชูการ์ กลุ่มเคทิสจึงได้มีแนวทางในการขยายงานในหลายด้านด้วยกัน ทั้งในสายธุรกิจน้ำตาล และสายธุรกิจชีวพลังงาน ในสายธุรกิจน้ำตาลนั้นได้มีโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) ที่บริเวณโรงงานน้ำตาลของเคทิส จ.นครสวรรค์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 980 ล้านบาท มีกำลังการผลิตน้ำเชื่อม 400 ตัน (400,000 กิโลกรัม) ต่อวัน และกำลังการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ 500 ตัน (500,000 กิโลกรัม) ต่อวัน คาดว่าจะสามารถติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จและเริ่มผลิตน้ำเชื่อมออกจำหน่ายได้ในช่วงกลางปี 2558
ในสายธุรกิจชีวพลังงาน ก็ได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลอีก 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ รวมเป็น 100 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 แห่งจะอยู่ในพื้นที่ติดกับโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และที่จังหวัดนครสวรรค์ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของเชื้อเพลิงชานอ้อยที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ใช้เงินลงทุนประมาณโรงละ 960 ล้านบาท และยังมีโครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพอ้อยอีกด้วย
“กรณีการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือไบโอฮับร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) นั้น กลุ่มเคทิสก็มีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบของไบโอฮับ เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เช่น ที่ KTIS Complex จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีทั้งโรงงานน้ำตาลทราย โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โรงผลิตเอทานอล โรงผลิตเยื่อกระดาษ ดังนั้น การเกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในคอมเพล็กซ์ของเคทิส ในรูปแบบของไบโอฮับจึงมีความเป็นไปได้สูง” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit