กระแสการต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น พยายามที่จะแจงถึงจุดดีๆ ต่าง ๆ ของการคงสภาพป่าไว้ ไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ความจริงเป็นการสร้างภาพเท็จที่ขัดกับความเป็นจริง
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ลงพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และบริเวณอื่นหลายครั้งแล้ว เพื่อสำรวจสภาพที่เป็นจริง ได้ข้อมูลที่สาธารณชนอาจไม่ทราบ และได้นำมาเปิดเผยไว้ ดังนี้
1. สภาพป่า บริเวณแก่งลานนกยูง เป็นป่าโปรงที่ฟื้นฟูในห้วงระยะ 5-20 ปีที่ผ่านมา หลังจากความพยายามในการก่อสร้างเขื่อนตั้งแต่ พ.ศ.2525 ไม่บรรลุผล ทั้งนี้แต่เดิมบริเวณดังกล่าวนี้ เคยมีชาวบ้านเผ่ากระเหรี่ยง และชาวไทย อยู่อาศัยอยู่ 200-300 ครัวเรือน ดังนั้นป่าในพื้นที่นี้จึงถูกทำลายไปมาก และเพิ่งฟื้นฟูในภายหลังจริง ไม่ใช่ป่าดงดิบแต่อย่างใด การที่บางฝ่ายพยายามอ้างความสมบูรณ์ของป่า ก็เพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนเป็นสำคัญ บางคนนำภาพจากยอดเขาโมโกจู ซึ่งต้องเดินไปกลับ 5 วัน มาแสดง ซึ่งยอดเขาดังกล่าวและผืนป่าที่หนาแน่นเหมือนบร็อคโครี่ อยู่คนละบริเวณกับที่สร้างเขื่อน
2. ไฟป่าเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและที่สำคัญเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เพื่อจับสัตว์ป่าบ้าง หรือเพื่อให้เกิดเห็ดสดบ้าง กรณีเช่นนี้ทางราชการคงมีข้าราชการหรือลูกจ้างจำกัด ทำให้เกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง และเกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากมีเขื่อน ก็ย่อมมีน้ำมากเพียงพอที่จะใช้ดับไฟป่า การก่อสร้างเขื่อนจึงช่วยดับไฟป่าได้เพราะมีน้ำท่าเพียงพอนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นการมีน้ำกักเก็บไว้มาก ยังทำให้บริเวณโดยรอบชุ่มชื้น โอกาสเกิดไฟป่าจึงมีน้อยลง
3. การล่าสัตว์ ที่ผ่านมาก็พบการล่าสัตว์บ้าง ซึ่งก็ทำนองเดียวกับไฟป่า ทางราชการจำเป็นต้องมีงบประมาณหรือบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อการป้องกันและปราบปรามการล่าสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ และโดยที่มีพื้นน้ำประมาณ 12,000 ไร่ ก็จะช่วยกันพื้นที่ป่าไว้ได้มาก โอกาสที่ใครจะบุกรุกเข้าวางเพลิงหรือล่าสัตว์ย่อมจะน้อยลง สัตว์ป่าก็จะอยู่อย่างสงบในป่าลึกได้โดยมีการรบกวนจากมนุษย์ลดน้อยลง
4. สภาพแก่งลานนกยูงก็มีความสวยงามดี และน่าเสียดายเมื่อกลายเป็นพื้นที่ใต้ท้องเขื่อน อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นความจำเป็นในการสร้างเขื่อน และในอนาคตหลังจากสร้างเขื่อนแล้ว ก็อาจเกิดแหล่งท่องเที่ยวสวยงามอีกมาก เช่นที่เกิดขึ้นในเขื่อนอื่น ๆ พื้นที่บางส่วนอาจสามารถปรับปรุงเป็นหาดทราย คล้ายบางแสน 2 พัทยา 2 ในกรณีเขื่อนอุบลรัตน์ (ขอนแก่น) และอาจมีลานหินคล้ายกับแก่งลานนกยูงนี้อีกในบริเวณเนินเขาที่น้ำจะขึ้นไปท่วมถึง
5. สำหรับน้ำในแก่งลานนกยูง และแก่งเกาะใหญ่ที่อยู่ห่างออกไป 5.6 กิโลเมตร ในช่วงหน้าน้ำ ก็มีน้ำ มีปลาอยู่พอสมควร แต่โดยมากมักเป็นปลาขนาดเล็กๆ แต่ในช่วงหน้าแล้ง น้ำลดลงเหลือน้อยมาก โดยเฉพาะบริเวณแก่งเกาะใหญ่ ชาวบ้านสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งได้เลย การมีน้ำอยู่น้อยนี้จึงอาจเป็นข้อจำกัดต่อการบริโภคของส่ำสัตว์ มนุษย์ และการเจริญเติบโตของป่าไม้ แต่หากมีเขื่อน ก็ย่อมจะมีน้ำท่าสมบูรณ์ ปลาก็ใหญ่และชุกชุม เป็นประโยชน์ต่อป่า สัตว์ป่าและมนุษย์ในหลายทาง ทั้งการแก้ไขปัญหาอุทกภัย การชลประทาน การประมง การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
6. นกยูงและสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนตรทราย กระจง ไก่ฟ้า กวาง แต่เดิมไม่มีหรือในสมัยโบราณอาจมี แต่หายไปนานแล้ว มาเมื่อ 5 ปีก่อน ทางราชการได้นำมาเลี้ยงไว้ในพื้นที่นี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชม แรก ๆ อยู่ในกรง แต่ต่อมาก็ปล่อยให้หากินอิสระ และที่แพร่พันธุ์อยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุดก็คือนกยูง เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อแก่งลานนกยูง นกยูงเหล่านี้แรกๆ ยังถูกสุนัขกัดเสียชีวิตไปบ้าง แต่ต่อมาก็แพร่พันธุ์จนถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้ไปแล้ว
7. เรื่องวัฒนธรรมต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นโดยไม่มีพื้นฐานความเป็นจริง เป็นการหลอกใช้ความน่ารัก น่าสงสารของคน สัตว์ สิ่งของมาให้เราหลงเชื่อ การสร้างเขื่อนในหลายที่ อาจต้องโยกย้ายคน หรือชุมชน เช่น ในสมัยสร้างเขื่อนสิริกิติ์ (อุตรดิตถ์) และเขื่อนวชิราลงกรณ์ (กาญจนบุรี) แม้แต่วัดก็ยังย้ายและกลายเป็นเมืองใต้บาดาล แต่วัฒนธรรมต่าง ๆ ก็ยังคงอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหน คนจีนกระจายไปอยู่ทั่วโลก วัฒนธรรมต่างๆ ก็ยังคงอยู่
8. เรื่องเสือก็เป็นเรื่องปั้นแต่ง ที่ผ่านมามักมีข่าวว่าพบเสือในป่าแม่วงก์ เช่นล่าสุดกันยายน 2557 ก็มีข่าว "เสือโคร่งจากกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ ณ ผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน" โดยในภาพ เสือก็อยู่บนภูเขาสูง คลองลานเป็นคนละที่ ไม่ใช่ที่ตั้งเขื่อนแม่วงก์แน่นอน จะสังเกตได้ว่าการโกหกสร้างภาพมีเป็นระยะๆ ความจริงคือจุดที่สร้างเขื่อนเป็นชายขอบป่า เสือคงไม่มา แต่ก็เคยมีการพบรอยเท้าเสือแต่อยู่ห่างไกลออกไป ที่สำคัญบริเวณนี้เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านและยังมีรีสอร์ตมากมาย มีจุดกางเตนท์ ซึ่งแสดงว่าไม่มีเสือจริง และจากประสบการณ์ในที่อื่น หากพบมีเสือ ก็จะถูกไล่ล่าจนได้ เพราะเป็นอันตรายต่อชาวบ้านทั่วไป {12} อย่าลืมว่าที่สร้างเขื่อนมีขนาดเพียง 0.1% หรือ 1 ใน 1,000 ของผืนป่าตะวันตก (แม่วงก์-คลองลาน) ขนาดเพียง 2 เท่าของเขตสาทร เขตที่เล็กที่สุดเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร เสือคงไปอยู่ในพื้นที่ 99.9% ของผืนป่าลึกมากกว่า(www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement795.htm)
9. พวกค้านเขื่อนแม่วงก์ก็เตะถ่วงยื้อเวลาไปเรื่อย มีการตั้งแง่เสนอให้ไปศึกษาใหม่ไม่จบสิ้น เช่นให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น (พ.ศ.2537) ให้ทำประชาพิจารณ์ (พ.ศ.2541) ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำ (พ.ศ.2546) เป็นต้น เขื่อนก็ไม่ได้สร้างสักที ต้นไม้ก็เติบโตขึ้นทุกวันเพื่อให้ฝ่ายต้านเขื่อนมีข้ออ้างเพิ่มขึ้นอีก ถ้าสร้างเขื่อนแต่แรกก็คงไม่มีข้ออ้างเรื่องป่านี้
10. อ้างประชาชนไม่เอาเขื่อน ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ 71% ต้องการเขื่อน ที่ไม่ต้องการคงเป็นประชาชนในที่อื่น ยิ่งหากถามชาวไร่ชาวนา จะพบว่าแทบ 100% ต้องการเขื่อน ทั้งนี้เพราะเขาสรุปจากประสบการณ์ตรงในการทำการเกษตรกรรมของพวกเขา บางคนไพล่บอกว่า จะสร้างเขื่อนต้องถามชาวบ้านที่อื่นก่อน แล้วอย่างนี้จะสร้างทางด่วน รถไฟฟ้าใน กทม. ต้องถามชาวสตูล มุกดาหาร ตราดหรือไม่ เราต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ
เขื่อนแม่วงก์จึงจะมีประโยชน์เอนกอนันต์ต่อทั้งสัตว์ป่า ป่าไม้และประชาชนคนเล็กคนน้อย ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลโดยไม่ยึดติดกับฉันทาคติที่ต้องการปกป้องผืนป่าโดยไม่อิงกับความจำเป็นที่แท้ อาจไม่ได้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้ ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้สนใจจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบหลายด้าน เพื่อไม่ให้ถูกนักต้านเขื่อนลวง รูปที่ 1: นกยูงเหล่านี้ได้นำมาปล่อยเมื่อ 4-5 ปีก่อนนี้เอง แต่เดิมสูญพันธุ์ไปแล้วhttp://thaisocialwork.files.wordpress.com/2014/01/57-015-1.jpgรูปที่ 2: ณ บริเวณแก่งลานนกยูง ที่เป็นนกยูงที่เพิ่งเอามาปล่อยhttp://thaisocialwork.files.wordpress.com/2014/01/57-015-2.jpgรูปที่ 3: ณ หน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.4 (แม่เรวา)http://thaisocialwork.files.wordpress.com/2014/01/57-015-3.jpg
โปรดดู Clip เพิ่มเติมได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=BODxiMjiPMA&t=12m13sผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน