เข้มมาตรการผลิตข้าวอินทรีย์

25 Nov 2014
สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เข้มมาตรการการคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกรเข้าร่วมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาคุณภาพและผลผลิตข้าวหอมมะลิจังหวัด ด้วยระบบ GAP ภายใต้แผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ จังหวัดมหาสารคาม

นายเสกสรรค์ ศรีบุศยกุล หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ จังหวัดมหาสารคามอนุมัติให้สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพและผลผลิตข้าวหอมมะลิจังหวัด ด้วยระบบ GAP กิจกรรมการผลิตข้าวอินทรีย์ เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการเป็นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด จึงได้กำหนดคุณสมบัติเกษตรกร หลักเกณฑ์พื้นฐานของการทำเกษตรอินทรีย์ ดังนี้

๑.ชนิดข้าวที่จะส่งเสริมเป็นข้าวอินทรีย์ แยกเป็นกลุ่มข้าว ๒ ชนิด รวม ๕,๐๐๐ ไร่ แยกเป็น ชนิดที่ ๑ ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ กข ๑๕ จำนวน ๓๐ กลุ่ม ๆละ ๑๐๐ ไร่ รวมพื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่ ส่วนพันธุ์ข้าวชนิดที่ ๒ เป็นข้าวกลุ่มสีดำ มีข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ หอมนิล และข้าวเจ้ามะลิแดง จำนวน ๒๐ กลุ่มๆละ ๑๐๐ ไร่ รวมพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการข้าวอินทรีย์แต่ละชนิด กำหนดราย ๕ ไร่ กลุ่มละ ๒๐ ราย เป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมาแล้ว ในปี ๒๕๕๗ หรือกลุ่มที่ได้รับการตรวจ GAP จากกรมการข้าว รวมถึงกลุ่มเกษตรกรที่เคยเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์มาแล้ว ยังไม่ได้การรับรองและต้องการพัฒนาเพิ่ม และกลุ่มที่ได้การรับรองเกษตรอินทรีย์มาแล้ว ต้องการพัฒนาขยายผลต่อ ทั้งนี้สภาพพื้นที่ แหล่งน้ำ และสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมในการทำเกษตรอินทรีย์ตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของการทำเกษตรอินทรีย์ ๑๒ ข้อ เกษตรกรที่สนใจจะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการด้วยตยเอง และยอมรับที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยจังหวัดมหาสารคามจะให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่นเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยอินทรีย์ พืชปุ๋ยสด วัสดุอุปกรณ์ในการทำน้ำหมัก การอบรมถ่ายทอดความรู้ การตรวจรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ และการจัดหาตลาดจำหน่ายผลผลิตข้าวอินทรีย์หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช รักษาการเกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักเกณฑ์พื้นฐานการทำเกษตรอินทรีย์ ๑๒ ข้อ ดังนี้

๑. ห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมน

๒. เน้นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ตลอดจนการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อให้พืชแข็งแรงมีความต้านทานต่อโรคแมลง

๓. รักษาความสมดุลของธาตุอาหารภายในฟาร์ม โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

๔. ป้องกันมิให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีจากนอกฟาร์ม ทั้งจากดิน น้ำ และอากาศ โดยจัดสร้างแนวกันชน ด้วยการขุดคู หรือปลูกพืชยืนต้น และพืชล้มลุก

๕. ใช้พันธ์พืชหรือสัตว์ที่มีความต้านทาน และมีความหลากหลาย ห้ามใช้พันธ์พืชสัตว์ ที่ได้จากการตัดต่อสารพันธุกรรม

๖. การกำจัดวัชพืชใช้การเตรียมดินที่ดี และแรงงานคนหรือเครื่องมือกลแทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช

๗. การป้องกันกำจัดวัชพืชให้สมุนไพรกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้ยาเคมีกำจัดศัตรูพืช

๘. ใช้ฮอร์โมนที่ได้จากธรรมชาติ เช่น จากน้ำสกัดชีวภาพแทนการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์

๙. รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการรักษาไว้ซึ่งพันธุ์พืช หรือสัตว์ สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดที่มีอยู่ในท้องถิ่น ตลอดจนปลูกหรือเพาะเลี้ยงขึ้นมาใหม่

๑๐. การปฏิบัติหลักการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปให้ใช้วิธีธรรมชาติ และประหยัดพลังงาน

๑๑. ให้ความคารพสิทธิมนุษย์และสัตว์

๑๒. ต้องเก็บบันทึกข้อมูลไว้อย่างน้อย 3 ปี เพื่อรอการตรวจสอบ

เกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตรหรือต้องการทราบข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางราชการ ตั้งอยู่ที่ชั้น ๒ อาคารสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามหมายเลขโทรศัพท์ ๐๔๓-๗๗๗๑๓๗ และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน