ไทยพาณิชย์ โชว์ศักยภาพพร้อมให้บริการนักธุกิจจีน

25 Nov 2014
ธนาคารไทยพาณิชย์ สานสัมพันธ์ ไทย-จีน จัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์นักธุรกิจกว่า 20 บริษัทชั้นนำจากมณฑลชานตง (Shandong) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจผลิตยางล้อรถยนต์ และเครื่องจักรกล พร้อมโชว์ความพร้อมในการให้บริการลูกค้าจีนที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทยโดยจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อดูแลลูกค้าธุรกิจจีนโดยเฉพาะ เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแบบครบวงจร ตลอดจนข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงลึกเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน นับเป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจจีนในการมาลงทุนที่ประเทศไทย

ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า “นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทางรัฐบาลมณฑลชานตง ได้นำคณะนักธุรกิจชั้นนำในมณฑลชานตง มาศึกษาช่องทางการลงทุนและการค้าที่ประเทศไทยในครั้งนี้ นอกจากทำเลที่ตั้งของประเทศไทยอันเป็นศูนย์กลางอาเซียนแล้ว ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะยางพาราธรรมชาติ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เกษตรต้นน้ำ ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพาราธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก ในขณะที่จีนเป็นผู้นำเข้าอันดับหนึ่ง ซึ่งธนาคารเชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อประเทศจีน ในการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ซึ่งมีมูลค่ายอดขายกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และเป็นที่น่าสนใจว่ากว่าครึ่งกระจุกตัวอยู่ที่บริเวณเมืองชิงเต่า (Qingdao) มณฑลชานตง ธนาคารไทยพาณิชย์มีความตั้งใจและพร้อมที่จะให้บริการแก่นักธุรกิจจีนที่จะมาลงทุนหรือทำการค้ากับประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสนับสนุนทางการเงิน การให้ข้อมูลธุรกิจเชิงลึก ตลอดจนการแนะนำให้นักธุรกิจจีนร่วมมือกับนักธุรกิจไทย”

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจจีน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า “อุตสาหกรรมยางในประเทศจีนเอง กำลังเผชิญปัญหา 3 ด้านหลักด้วยกันคือ ข้อหนึ่ง การถูกประเทศตะวันตกจัดเก็บอากรมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด ข้อสอง นโยบายของรัฐบาลจีนที่กำหนดให้ลดสัดส่วนยางพาราธรรมชาติในยางรถยนต์ อันเป็นผลให้ขาดความคล่องตัวในการปรับสูตรการผลิต และสุดท้ายด้าน ต้นทุนโดยทั่วไปที่สูงขึ้น จึงมีความเร่งด่วนในการหาฐานการผลิตนอกประเทศ ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีการ เตรียมความพร้อมที่ดีแล้ว ธนาคารเชื่อว่าจะมีอุตสาหกรรมอื่นๆที่พร้อมย้ายฐานการผลิตตามมายังประเทศไทย”