มอบ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” แก่ผลงานต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติประจำปีครั้ง 16 พร้อมเวทีเสวนา “สิทธิการจัดการป่าของชุมชนในอาเซียน” เปิดมุมมองการจัดการป่าชุมชนในเพื่อนบ้านอาเซียน หวังผลักดันเชิงนโยบายเพื่อยกระดับกลุ่มสิทธิจัดการป่าชุมชนของไทย
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ศกนี้ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียวและประธานคณะกรรมการตัดสิน “รางวัลลูกโลกสีเขียว” เป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบ "รางวัลลูกโลกสีเขียว" ครั้งที่ 16 ประจำปี พ.ศ. 2557 ณ ห้องประชุมสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 53 ผลงานแบ่งเป็นประเภทชุมชน 11 ผลงาน ประเภทบุคคล 4 ผลงาน ประเภทกลุ่มเยาวชน 7 ผลงาน ประเภท "สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน" 10 ผลงาน ประเภทสื่อมวลชน 3 ผลงาน ประเภทงานเขียน 2 ผลงาน และประเภทความเรียงเยาวชน 16 ผลงาน
ตัวอย่างผลงาน อาทิ ประเภทชุมชนในปีนี้ มีความโดดเด่นในเชิงนวัตกรรมการจัดการที่ดิน อาทิ เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำตำบลห้วยปูลิง จ.แม่ฮ่องสอน ต้นแบบการจัดการระบบ “ไร่หมุนเวียนคงที่” โดยไม่ขยายที่ทำกินในป่าสงวน แม้ประชากรจะเพิ่มขึ้น หรือ ชุมชนเรวดีโซน 2 จ.นนทบุรี ชุมชนตัวอย่างในการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ที่เริ่มต้นจากปัญหาขยะล้นถัง การจัดการทรัพย์ในดิน สินในน้ำ “ระบบสามนิเวศ” ที่มีทั้งป่าพรุ ป่าจาก และป่าชายเลนของชุมชนบ้านท่าจูด จ.พังงา
ส่วนประเภทบุคคล ปีนี้เป็นปีของ “ครูต้นแบบ” เริ่มจาก “ครูจ่า” จ่าเอกอภิวิชย์ นวลแก้ว จ.ชลบุรี ผู้สลัดเครื่องแบบทหารเรือ มาเป็นครูในโรงเรียนวัดแหลมฉบัง เพื่อช่วยพิทักษ์สิทธิชาวบ้านจากการพัฒนาอุตสาหกรรมท่าเรือเมื่อกว่าสองทศวรรษก่อน ทำให้เกิดการฟื้นป่าชายเลนผืนสุดท้ายของแหลมฉบัง ฟื้นชุมชนที่อ่อนล้าให้กลับมาเข้มแข็ง มาจนถึง ครูทัศณี รัตรามา จ.นครพนม อดีตครูวิทยาศาสตร์ที่อุทิศพื้นที่ส่วนตัวในการสร้างป่าสมุนไพร ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ในการยกระดับหมอยาพื้นบ้าน สร้างเครือข่ายการพึ่งตนเองด้วยการปลูกป่า ใช้ยาสมุนไพร ลงใต้ไปพบครูเบญจมาศ นาคหลง ผู้พัฒนาการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษาด้วยรูปแบบการสอน “ชีวะแบบมีชีวิต” พานักเรียนออกนอกห้อง สัมผัสความจริงในคลอง อู่ตะเภา จนเกิดเครือข่ายเยาวชนที่ร่วมทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์คลองอู่ตะเภา จ.สงขลา และปิดท้ายด้วย “บังหลี” อารีย์ ติงหวัง ครูภูมิปัญญาแห่งสตูล ผู้ปลูกป่าชายเลนตาม “โองการของพระเจ้า”
สำหรับเวทีเสวนาในปีนี้ จัดขึ้นสองวัน วันแรก (25 พย.) จัดในช่วงเช้าก่อนพิธีมอบรางวัล เป็นปาฐกถานำเรื่อง “สิทธิการจัดการป่าของชุมชนในอาเซียน” โดย ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์รีคอฟ เพื่อคนและเพื่อป่า (RECOFTC The Center for People and Forest) ต่อด้วยเวทีเสวนาในหัวข้อเดียวกัน เพื่อเปิดมุมมองให้แก่เครือข่ายลูกโลกสีเขียวที่มาร่วมงานกว่าพันคน ได้เติมประสบการณ์เรื่องกลุ่มสิทธิการจัดการป่าของภาคประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน โดยมีวิทยากรจาก สปป.ลาว คือ ท่านศรีอนุวงศ์ สวัสดิวงศ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรป่าไม้ มหาวิทยาลัยสุพานุวงศ์ แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว และนายบ้านลองลัน จากแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโส ศูนย์รีคอฟเพื่อคนและเพื่อป่า
ส่วนในวันที่สอง (26 พย.) ช่วงเช้ามีเวทีห้องย่อยให้เครือข่ายฯ ร่วมกันระดมสมองเพื่อปฏิรูปโลกแห่งอนาคตที่ “เขียวกว่านี้” โดยแบ่งเป็น 3 ห้อง 3 ประเด็นคือ 1) ภาครัฐจะสนับสนุนให้เกิด “กลุ่มสิทธิ” ในการจัดการป่าของชุมชนได้อย่างไร 2) วิถีสมดุลระหว่างการพัฒนา การผลิต และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 3) การเชื่อมโยงภูมิปัญญา-ความเชื่อกับวิทยาการ เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ปิดท้ายด้วยการสังเคราะห์ประเด็นและปาฐกถา โดยนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
การประกวด "รางวัลลูกโลกสีเขียว" ครั้งที่ 16 ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในเรื่องความพอเพียงมาดำเนินงานในหัวข้อ "วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า" มีผลงานที่เข้าสู่การพิจารณา 442 ผลงาน แบ่งเป็นประเภทชุมชน 121 ผลงาน ประเภทบุคคล 72 ผลงาน ประเภทกลุ่มเยาวชน 50 ผลงาน ประเภทสื่อมวลชน 6 ผลงาน ประเภทงานเขียน 30 ผลงาน ประเภทความเรียงเยาวชน 127 ผลงาน และผลงานประเภทชุมชนที่เคยได้รับรางวัลฯ มาแล้ว 5 ปีขึ้นไป ซึ่งมีคุณสมบัติเข้าสู่การพิจารณาประเภท "สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน" จำนวน 36 ผลงาน
การพิจารณาผลงานผ่านกระบวนการเป็นลำดับขั้น จากคณะกรรมการภาค คณะกรรมการคัดเลือก และคณะกรรมการตัดสิน มีผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้นในปีนี้ 53 รางวัล รวมผลงานที่ได้รับรางวัลตั้งแต่ปีแรก (พ.ศ.2542) จนถึงปีที่ 16 (พ.ศ. 2557) มีจำนวนทั้งสิ้น 608 ผลงาน
รางวัลประกอบด้วย โล่รางวัลจากนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการตัดสิน ใบประกาศเกียรติคุณ และรางวัลเงินสดดังนี้ : ประเภทชุมชน 11 รางวัลๆ ละ 250,000 บาท ประเภทบุคคล 4 รางวัลๆ ละ 100,000 บาท ประเภท กลุ่มเยาวชน 7 รางวัลๆ ละ 50,000 บาท ประเภท "สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน" จำนวน 10 รางวัลๆ ละ 100,000 บาท ประเภทสื่อมวลชน รางวัลชนะเลิศ 3 รางวัลๆ ละ 100,000 บาท ประเภทงานเขียน (ไม่มีผลงานได้รับรางวัลดีเด่น) รางวัลชมเชย 2 รางวัลๆ ละ 25,000 บาท ประเภทความเรียงเยาวชน 16 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลดีเด่นรวม 8 รางวัล ได้แก่ ประเภทอายุไม่เกิน 15 ปี จำนวน 5 รางวัล ประเภทอายุ 16-25 ปี จำนวน 3 รางวัลๆ ละ 5,000 บาท และรางวัลชมเชยรวม 8 รางวัลๆ ละ 3,000 บาท ได้แก่ ประเภทอายุ 15 ปี จำนวน 2 รางวัล และประเภทอายุ 16-25 ปี จำนวน 6 รางวัล รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 4,914,000 บาท โดยผู้รับรางวัลจะได้รับเงินรางวัลเต็มจำนวนสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สถาบันลูกโลกสีเขียวโทรศัพท์ 02 537 2146, 02 537 1993, 081 911 4451 โทรสาร 02 537 [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit