กระทรวงเกษตรฯ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเฝ้าระวังโรคพีอาร์เอสในช่วงเปลี่ยนฤดู หวั่นส่งผลกระทบต่อพ่อแม่พันธุ์และลูกสุกร

26 Nov 2014
นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนฤดูกาลจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาวส่งผลให้สุกรเกิดความเครียด กินอาหารน้อยลง สุขภาพอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย โดยโรคที่สำคัญและควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ คือ โรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ หรือโรคพีอาร์อาร์เอส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) ซึ่งในประเทศไทยได้พบการระบาดเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา จึงขอให้เกษตรผู้เลี้ยงสุกรเฝ้าระวังสุขภาพสุกรอย่างใกล้ชิด เพราะโรคดังกล่าวนี้เป็นโรคที่ก่อเกิดความเสียหายในสุกรโดยเฉพาะพ่อ-แม่พันธุ์ และลูกสุกร และหากพบสุกรที่แสดงอาการของโรคนี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรม ปศุสัตว์ เพื่อดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยเร่งด่วน

สำหรับสุกรที่เป็นโรคจะแสดงอาการความผิดปกติทางระบบสืบพันธุ์ เช่น แม่สุกรจะผสมติดยาก เกิดการแท้งในช่วงท้ายของการตั้งท้อง อัตราการตายของลูกสุกรแรกคลอดสูง อัตราการเข้าคลอดต่ำ และยังแสดงอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก และอีกทั้งสุกรที่ได้รับเชื้อจะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคแทรกซ้อนอื่นๆได้ง่าย นอกจากนี้สุกรที่ไม่ได้แสดงอาการป่วยยังสามารถแพร่กระจายโรคแก่สุกรตัวอื่นได้ และที่สำคัญโรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่แน่นอน โดยรักษาได้เพียงตามอาการเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความสูญเสียสุกรต่อโรคดังกล่าวนี้การป้องกันโรคจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เกษตรกรผู้เลี้ยงจึงควรเอาใจใส่สุกรที่เลี้ยง โดยกรมปศุสัตว์ได้เน้นให้เกษตรกรผู้เลี้ยงคำนึงถึงการเลี้ยงสุกรโดยการนำมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพมาปรับใช้ในการเลี้ยงสุกร เช่น สุกรที่นำเข้ามาเลี้ยงต้องมาจากแหล่งที่ปลอดโรค มีการจัดการการเลี้ยงสุกรที่ดี โรงเรือนที่เลี้ยงสุกรต้องมีความเหมาะสม เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการป้องกันการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมกับการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยด้านนาย

สัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยปรับปรุงวิธีการเลี้ยงสุกรโดยนำมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพเข้ามาประกอบการเลี้ยงสุกร ซึ่งรายละเอียดมาตรการนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรสามารถขอรับข้อมูลได้ที่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในพื้นที่ทุกแห่ง และหากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรพบสุกรมีอาการของโรคลักษณะดังกล่าว หรือพบสุกรตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทั่วประเทศทันที เพื่อกรมปศุสัตว์จะได้ทำการตรวจสอบและดำเนินการควบคุมโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่อไป