“ส้มซ่า” นวัตกรรมจากพลังของชุมชน...ด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น

26 Nov 2014
ลิปกลอสส้มซ่าของชุมชนเราไม่ธรรมดานะ ได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้ว” เสียงบ่งบอกความภาคภูมิใจของแม่ ขณะส่งลิปกลอสสีแดงสดให้ฉัน พลอยทำให้ฉันออกอาการตื่นเต้นตามไปด้วย สบโอกาสให้แม่ได้สาธยายขยายความ ซึ่งนั่นทำให้ฉันได้ตระหนักว่า ชุมชนของฉันไม่ธรรมดาจริง ๆ

ตอนเด็ก ๆ เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนมักล้อฉันว่า เป็นราชนิกูลอยู่ในวัง จนกระทั่งโตขึ้น จึงรู้ว่าชื่อหมู่บ้าน “วังส้มซ่า” ที่ฉันอาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิดนี้มีที่มาและความหมาย เนื่องจากหมู่บ้านของเราอยู่ริมฝั่งลำน้ำน่าน ณ หมู่ 1 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีบริเวณที่เป็นวังน้ำวน และในอดีตทุกครัวเรือนจะนิยมปลูกส้มซ่า อย่างน้อย ๆ ก็บ้านละ 1 ต้น จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน

แม่เล่าอีกว่า “เมื่อก่อนเวลาไปทำนา จะพกผลส้มซ่าไว้รับประทาน ช่วยให้สดชื่น หายเหนื่อย ผิวส้มซ่าไว้สูดดม แก้วิงเวียน เวลาสระผมก็นำผลมาผ่าครึ่งชโลมผม หรือขัดมือ ขัดเท้า ให้ความสะอาด ลดความแห้ง หยาบกร้าน”

“ต่อมาเมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ชาวบ้านหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้ต้นส้มซ่าค่อย ๆ หายไป ในที่สุดเหลือต้นส้มซ่าดั้งเดิมอยู่เพียงต้นเดียว และก่อนที่ต้นส้มซ่าต้นสุดท้ายจะถูกโค่น ชาวบ้านเกิดความรู้สึกหวงแหนและเสียดาย จึงรวมตัวกันอนุรักษ์ต้นส้มซ่า”

การอนุรักษ์ส้มซ่าเริ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2554 โดยการเพาะพันธุ์ส้มซ่าแจกบ้านละ 1 ต้น และเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน จึงคิดนำส้มซ่ามาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ ในที่สุดจึงก่อเกิดผลิตภัณฑ์จากส้มซ่า รวมถึงพืชสมุนไพรอื่น ๆ ที่ปลูกกันในหมู่บ้าน เช่น ว่านหางจระเข้ ใบบัวบก มะพร้าว งา กล้วย ข้าว เป็นต้น โดยมีดร.ไฉน น้อยแสง รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ผู้มีความรู้ทางด้านแพทย์แผนไทยและพืชสมุนไพร ซึ่งมีภูมิลำเนา ณ หมู่บ้านวังส้มซ่า ให้คำแนะนำวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร

จากนั้นได้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่าขึ้น โดยระดมทุนจากความสมัครใจของชาวบ้านในชุมชนเพื่อเป็นทุนในการผลิต พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองพิษณุโลก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ทั้งนี้ในปี 2555 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพสมทบกับเงินลงทุนของกลุ่ม สร้างที่ทำการและโรงงานเพื่อให้ได้มาตรฐานในการผลิต มูลค่า 1,300,000 บาท ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่ม ต่อมามีอีกหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำบันทึกตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยนเรศวรเกี่ยวกับการดูแลคุณภาพของสารสกัดจากพืชสมุนไพรต่าง ๆ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยมีสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณเมื่อว่างจากการทำนา สมาชิกของกลุ่มจะแวะเวียนเข้าไปในโรงงาน บ้างก็จัดหาวัตถุดิบ บางคนสาละวนกับการหยิบโน่น ผสมนี่ และยังมีฝ่ายการตลาด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่นำสินค้าออกไปวางจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ของอำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศเจลอาบน้ำ สบู่ก้อน โลชั่น แชมพู ครีมนวดผม ทรีตเมนท์ โฟมสครับ ครีมบำรุงผิว ครีมขัดผิว เซรั่ม ลิบบาล์ม ครีมนวดมือและเล็บ ครีมนวดเท้า...ฯลฯ ในแบรนด์ “ส้มซ่า” “อนงค์ทิพย์” และ “บานาน่าสปา” เริ่มเป็นที่รู้จัก ยอมรับ ไม่ใช่แค่คนวัยทำงานหรือวัยกลางคนเท่านั้น วัยรุ่นก็นิยมชมชอบ จากปากต่อปาก ทำให้มีนักธุรกิจ กลุ่มสปา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนนักเรียน นักศึกษามาศึกษาดูงานในรูปแบบแหล่งเรียนรู้ ตั้งแต่การปลูกพืชสมุนไพร กระบวนการผลิต และเริ่มได้รับออเดอร์จากลูกค้าที่สั่งให้ทำครีมบำรุงผิว ครีมขัดผิว ส่งขายในรูปแบบเป็นกิโลกรัม บางรายก็ว่าจ้างแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต ออกแบบบรรจุภัณฑ์ โลโก้ ไปจนถึงจดทะเบียนการค้า และตอนนี้สินค้าของกลุ่มไปไกลถึงต่างประเทศแล้ว

แต่กลุ่มของเรายังไม่หยุดแค่นั้น ด้วยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ไฟแรง นางสาววรัญญา หอมธูป ผู้จัดการกลุ่ม จึงก่อเกิดเป็นผลงานชิ้นเอก ลิปกลอสส้มซ่า

“โจทย์ของเราก็คือ ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความแตกต่างจากท้องตลาด มีความทันสมัย โดดเด่น ในขณะที่ยังคงภูมิปัญญาของท้องถิ่นเรา ในที่สุดจึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลริมฝีปากที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากสารสกัดเซลล์เนื้อเยื่อเจริญของส้มซ่า สามารถใช้ได้ทุกช่วงเวลาและโอกาส ตัดสินใจซื้อง่ายเพราะราคาไม่แพง และยังซื้อเป็นของฝากได้อีกด้วย”

“ลิปกลอสส้มซ่ามีความโฉบเฉี่ยว สดใส ด้วยรูปลักษณ์ ๕ สี แทนผู้หญิง ๕ สไตล์คือ สีแดงสำหรับสาวร้อนแรง สีชมพูสาวอ่อนหวาน สีส้มสาวสดใส สีน้ำเงินสาวลึกลับ และสีทองสำหรับสาวหรูหรา ให้สาว ๆ แต่ละคนเลือกใช้ได้ตามบุคลิก ความชอบ”

ด้วยวิธีคิดและกระบวนการ ทำให้ลิปกลอสส้มซ่าได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคเหนือและรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศ ในการประกวดการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในการเข้าสู่ตลาด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2557

ก้าวต่อไปของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่านับเป็นก้าวย่างสำคัญ นั่นคือ การเตรียมเปิดสปาสมุนไพรให้บริการแบบครบวงจรในช่วงต้นปี 2558

ฉันหยิบลิปกลอสส้มซ่าขึ้นมาเพ่งพิศอีกครั้ง เบื้องหลังลิปกลอสสีแดงสดแท่งนี้ ฉันมองเห็นพลังของผู้คน ที่หล่อหลอมภายใต้ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นสูตรสำเร็จอันน่าทึ่ง

ตอนนี้ ความอิ่มเอิบ ความภาคภูมิใจของแม่ ถูกส่งต่อ ซึมซาบ สูบฉีดหัวใจของฉันให้พองโต และรู้สึกรักบ้านเกิดขึ้นมาอย่างยิ่งยวด...ชุมชนของฉันไม่ธรรมดาจริง ๆ