สธ. ยันไทย สร้างความพร้อมมาตรการ “ป้องกันควบคุมโรคอีโบลา” พร้อมรับมือเต็มที่

27 Nov 2014
กระทรวงสาธารณสุข จัดวางมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างเต็มที่ และขณะนี้ดำเนินการตามแผนทุกวัน ทั้งการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดที่ด่านเข้า-ออกระหว่างประเทศ การเฝ้าระวังทั้งในคนและสัตว์ ความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล การตรวจทางห้องปฏิบัติการ วัสดุอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ซักซ้อมแผนรับมือในจังหวัดต่างๆ และประชุมประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด เชื่อมั่นระบบรับมือได้แน่นอน

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประชุมประเมินสถานการณ์โรคอีโบลา พบว่า ขณะนี้ยังคงมีการระบาดอยู่ใน 3 ประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก คือ กินี ไลบีเรีย และประเทศเซียร์รา ลีโอน ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาทั้งหมด 15,145 ราย เสียชีวิตแล้ว 5,420 ราย

แม้ว่าคณะผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จะประเมินว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้าประเทศค่อนข้างต่ำ แต่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมความพร้อมการรับมือไว้อย่างเต็มที่ โดยเน้นที่ 3 มาตรการหลัก คือ การเฝ้าระวังโรค การดูแลรักษา และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันวินิจฉัยเชื้อโรค โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลต่างๆ เตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งติดตามเฝ้าระวังผู้เดินทางจากประเทศที่กำลังมีระบาดทั้งที่ช่องทางเข้าออกประเทศ ที่โรงพยาบาล และในชุมชน ตามแนวทางที่กำหนด 2.เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลศูนย์ 28 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การดูแลหากพบผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลา โดยเน้นความพร้อมของห้องแยกโรค และห้องปฏิบัติการชันสูตรโรค เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อตัวผู้ปฏิบัติงาน ​3.เตรียมโรงพยาบาลชุมชนให้พร้อมกรณีที่อาจต้องรับผู้สัมผัสกับผู้ป่วยสงสัยอีโบลาไว้เพื่อสังเกตอาการ 21 วัน ตามมาตรฐาน พร้อมทั้งการสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับผู้สัมผัสที่ต้องแยกตัวไว้สังเกตอาการและญาติ เพื่อลดความวิตกกังวล ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีการซ้อมแผนเตรียมความพร้อมของระบบรับกรณีมีผู้สงสัยหรือป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ได้ดำเนินการซ้อมแผนไปแล้ว

ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอีโบลา เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว มีอัตราตายค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 50-90 เชื้อมีระยะฟักตัว 2-21 วัน อาการของผู้ป่วย คือ มีไข้สูงทันที อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เจ็บคอ และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว ผู้ป่วยบางรายอาจพบมีอาการเลือดออกได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักพบมีอาการตับวาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง ช็อก และอวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่

ทั้งนี้ หากผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ที่กำลังมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลามีอาการไข้สูง หรือมีอาการอื่นที่สงสัยว่าจะป่วยด้วยโรคติดเชื้ออีโบลา เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เจ็บคอ และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว เป็นต้น ขอให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อให้การดูแลได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ผลการเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 จนถึงขณะนี้ ไทยมีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบลา 3 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมดไม่ใช่ผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา และขณะนี้ได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง การเฝ้าระวังในคนดำเนินการครอบคลุมทุกด่านทั้งด่านอากาศ ด่านน้ำและด่านบก โดยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะนี้ได้ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ (Thermoscan) ตรวจวัดไข้ผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด จำนวน 5 เครื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยตั้งที่บริเวณขาเข้า 3 เครื่อง และที่จุดแวะต่อเครื่องไปประเทศอื่นอีก 2 เครื่อง และเพิ่มการประชาสัมพันธ์บนเครื่องบินจากการการดำเนินการคัดกรองผู้เดินทาง และการติดตามอาการผู้เดินทางเป็นเวลา 21 วัน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557- 20 พฤศจิกายน 2557 ได้ทำการคัดกรองและติดตามอาการผู้เดินทางทั้งหมด 3,115 ราย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากผู้เดินทางเป็นอย่างดี กรมควบคุมโรค ยังได้จัดทำคำแนะนำสุขภาพแจกให้กับผู้เดินทางจากพื้นที่ที่มีการระบาด (Health Beware card) พร้อมกับคำชี้แจงกฎหมายควบคุมโรคของไทยสำหรับกรณีการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Health Regulation Regarding Ebola outbreak) ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้เดินทางจากประเทศที่กำลังมีการระบาดอีกด้วยกรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไว้อย่างเพียงพอ โดยได้ดำเนินการจัดส่งไปให้โรงพยาบาลต่างๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต รวมทั้งด่านควบคุมโรคโรคติดต่อระหว่างประเทศแล้วกว่า 43,000 ชุด เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้ออีโบลามีความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน