ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ นอกจากการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงพิษภัยจากการสูบบุหรี่แล้ว ประเทศไทยจึงมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรเร่งเตรียมการให้พร้อม นั่นคือการผลิตเครื่องมือการแพทย์ที่มีความทันสมัย และสามารถรองรับผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทยที่กำลังจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากภาวะหลอดลมตีบได้อย่างทันท่วงที และยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากโรคหอบหืดนั้นเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเป็นอันตรายถึงชีวิต
สิ่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นนวัตกรรมเครื่องขยายหลอดลมด้วยคลื่นความร้อนสำหรับบำบัดผู้ป่วยหลอดลมตีบ โดยความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้ความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ และยังเป็นการพัฒนาวงการสาธารณสุขไทย ในด้านการเป็นต้นแบบของการผลิตเครื่องมืออันทันสมัยโดยฝีมือคนไทยเป็นครั้งแรก
ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ผู้ดูแลงานวิจัยนวัตกรรมเครื่องขยายหลอดลมผู้ป่วยหอบหืดด้วยคลื่นความร้อน เปิดเผยว่า ปัญหาโรคหอบหืดของคนไทย กำลังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก และการป้องกันตัวเองจากการสูดดมควันได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมของเรา เต็มไปด้วยมลพิษรอบตัวมากมาย โดยเฉพาะพิษภัยจากควันบุหรี่นั้น นับว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากขึ้น เพราะอาการหอบสามารถเกิดขึ้นได้จากการสูบบุหรี่โดยตรง รวมทั้งการสูดควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ และควันบุหรี่ยังเต็มไปด้วยสารพิษกว่า 4,000 ชนิด อีกทั้งยังก่อให้เกิดอาการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และเกิดภาวะหลอดลมตีบได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ป่วยโรคหอบหืดจะต้องพกยาพ่นสำหรับขยายหลอดลมติดตัวไว้ตลอดเวลา แต่หากมีอาการรุนแรงมาก การใช้ยาขยายหลอดลมเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะไม่สามารถลดการตีบแคบลงของกล้ามเนื้อหลอดลมได้
“วิธีการบำบัดโรคหืดด้วยเครื่องมือขยายหลอดลมด้วยคลื่นความร้อน จะถูกนำมาบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก ซึ่งหลักการทำงานของเครื่องมือจะเป็นการอาศัยความร้อนจากพลังงานคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation) ในย่านความถี่ 375 - 500 กิโลเฮิรตซ์ และใช้อุณหภูมิประมาณ 55 – 65 องศาเซลเซียส โดยส่งความร้อนผ่านเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นเข็ม ซึ่งปลายเข็มนั้นสามารถกางออกได้คล้ายกับร่ม จึงช่วยแพร่ความร้อนไปยังจุดต่างๆ ของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม และลดการตีบได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล้ายคลึงกับหลักการบำบัดก้อนมะเร็งโดยใช้ความร้อน ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า วิธีนี้ช่วยลดการบวมของกล้ามเนื้อที่ก่อให้เกิดภาวะหลอดลมตีบได้ถึงร้อยละ 50 จึงช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการหอบน้อยลง และสิ่งที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย” อาจารย์สุพันธุ์ กล่าวเสริมทั้งนี้ นอกจากประโยชน์ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหอบหืดแล้ว การสร้างสรรค์นวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมาโดยคนไทยเอง ยังสามารถช่วยลดต้นทุนของค่าเครื่องมือทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ เพราะโดยปกตินั้น เครื่องมือชนิดนี้จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ทำให้มูลค่ารวมตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาอุปกรณ์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการนำเข้า มีมูลค่ารวมกว่าล้านบาท ซึ่งหากอุปกรณ์ดังกล่าวมีการผลิตได้เองโดยในประเทศไทยเอง ก็จะช่วยลดงบประมาณได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคหอบหืดได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เครื่องมือดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการวิจัยเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัยสูงสุด เพื่อเป็นการยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีคุณภาพเพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทัดเทียมกับระดับนานาชาติ และนำไปสู่การปรับปรุงสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประจำปี พ.ศ. 2557 ภายใต้แนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ” ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานด้านสาธารณสุข ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน
สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปผู้สนใจรายละเอียดงานวิจัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 0-2329-8111 หรือคลิกเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit