นายประวิทย์ กล่าวว่า จากบทเรียนกรณีคลื่น 1800 ที่ผ่านมา มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคที่ใกล้เคียงกัน เพียงแต่กรณีดังกล่าวมีทางออกที่ไม่ยากเท่ากับกิจการโทรคมนาคม เพราะเป็นกิจการไม่ใช้คลื่น จึงไม่ต้องจัดให้มีการประมูล เพียงแต่ต้องเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ซึ่งทรูและอสมท.จะต้องตกลงการเป็นเจ้าของอุปกรณ์ภาคส่งและภาครับให้ชัดเจนว่าอุปกรณ์ภาคส่ง สมาชิกที่อยู่ในระบบใครจะเป็นผู้ดูแลเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้ยังเห็นว่า หากทรูไม่ต้องเสียค่าสัมปทานแล้ว ผู้บริโภคก็ควรจ่ายค่าบริการน้อยลง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีการสื่อสารข้อมูลอย่างถูกต้องและชัดเจนกับสมาชิกเพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ
ด้าน นางสาวสุภิญญา ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า “หากมีสมาชิกที่เป็นผู้บริโภคแม้จำนวนไม่มาก และยังรับบริการในระบบMMDSอยู่ ผู้บริโภคควรจะต้องได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ และต้องได้รับการเยียวยา ซึ่งผลที่ได้จากการะดมความคิดเห็นวันนี้ ทางคณะอนุกรรมการจะเชิญตัวแทนทรูวิชั่นส์ มารับทราบข้อคิดเห็นและหาทางออกต่อไป”
ทั้งนี้ ความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมสรุปเป็นด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านการให้บริการหลังการสิ้นสุดสัญญาการให้บริการ ผู้บริโภค ควรจะต้องได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง คุณภาพการให้บริการต้องไม่น้อยหรือด้อยลงกว่าเดิม และราคาเป็นธรรม เมื่อมีการลดต้นทุน บริษัท ทรู วิชั่นส์ ควรมีการคืนกำไรให้แก่ผู้บริโภค ควรเพิ่มศูนย์บริการของบริษัท ทรู วิชั่นส์ ให้กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้บริการสมาชิกให้มากขึ้น ควรควบคุมคุณภาพของ Call Center พร้อมทั้งมีแผ่นโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ระบุวันที่หมดอายุด้วย ด้านสิทธิของผู้บริโภค ผู้บริโภคควรจะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระหว่าง อสมท และ บริษัท ทรู วิชั่นส์ฯเพื่อเป็นข้อมูลในการติดสินใจเลือกผู้ใช้บริการรายเดิม/รายใหม่ รวมทั้งควรจะรับสิทธิในการเยียวยาจาก บริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ อย่างไม่ควรมีเงื่อนไขในการให้บริการที่ทำให้เป็นการเพิ่มภาระกับผู้บริโภค และไม่ควรได้รับผลกระทบจากการติดตั้ง หรือการเปลี่ยนอุปกรณ์ หลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุด นอกจากนี้ บริษัท ทรู วิชั่นส์ ไม่มีสิทธิ์โอนสมาชิกไปบริษัทใหม่โดยที่ไม่ได้รับการยินยอมตามประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรฐานสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. ๒๕๕๖ ในกรณีที่รายจ่ายค่าสัญญาสัมปทานของทรูที่ลดลง ทรูควรจะนำรายจ่ายที่ลดลงในส่วนนี้มาเป็นส่วนลดให้ผู้บริโภค ….
ด้านการแจ้งข้อมูลข่าวสารกับสมาชิก/ผู้ใช้บริการ ที่ผ่านมาไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารเรื่องการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้แก่ผู้บริโภคทราบ โดยเห็นว่าบริษัท ควรแจ้งรายละเอียดแบบตรงไปตรงมากับผู้บริโภคถึงรายละเอียดการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และควรมีข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้บริการได้ตามที่ต้องการ
และด้านการเปลี่ยนผู้ให้บริการ บริษัทฯ ใช้วิธีการเสนอให้ชมช่องรายการเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม และเมื่อตัดสินใจรับข้อเสนอกลับกลายเป็นว่าถูกโอนไปเป็นสมาชิกของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการหมดสัญญาสัมปทาน อีกทั้งเป็นการให้ข้อเสนออย่างมีระยะเวลาจำกัด ได้มีการเสนอว่า ผู้บริโภคควรจะเป็นผู้เลือกว่าจะเลือกผู้ให้บริการรายเดิมหรือผู้ให้บริการรายใหม่ และการโอนสมาชิกไปยังบริษัทใหม่ต้องได้รับการยินยอมจากสมาชิก และได้รับอนุญาตจาก กสทช.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit