สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (VPAT) เปิดโครงการมาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์ครั้งแรกในประเทศ (TAHSA - Thailand Animal Hospital Standards and Accreditation) พร้อมประกาศเชิญชวนสถานพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศร่วมโครงการ หวังยกระดับมาตรฐานในการรักษาสัตว์เลี้ยง ยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้น ล่าสุดเปิด สาธิตระบบประเมินตนเองแบบออนไลน์ เน้นดูแลกระบวนการเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสัตว์เลี้ยง โดยไม่คำนึงถึงความใหญ่เล็กของสถานประกอบการ มุ่งให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ ส่งเสริมความเป็นเลิศในด้านการรักษาและการให้บริการแก่สัตว์เลี้ยง รองรับเปิดตลาด AEC
รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร. เกวลี ฉัตรดรงค์ นายกสมาคมสัตวแพทผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (VPAT) กล่าวว่าสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย ได้อุทิศตนทำงานอย่างต่อเนื่องให้กับวิชาชีพสัตวแพทย์สัตว์เลี้ยง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง นอกจากกิจกรรมโครงการการศึกษาต่อเนื่องที่จัดเพื่อส่งเสริมศักยภาพของสัตวแพทย์ไทยในด้านการรักษาให้เป็นที่ยอมรับในนานาประเทศแล้ว สมาคมฯ ยังได้ริเริ่มโครงการสร้างมาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์ในประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้สัตวแพทย์ไทยทั้งประเทศได้เดินทางไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ที่จะส่งเสริมการรักษาสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ และเพื่อคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงที่ดี วัตถุประสงค์หลักของโครงการ เพื่อการกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการรักษาสัตว์เลี้ยง โดยมุ่งหวังให้สัตวแพทย์ได้มีแนวทางการรักษาสัตว์ที่ได้มาตรฐานเช่นเดียวกัน อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (VPAT) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก บริษัท ฮิลล์ นิวทริชั่น จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เพื่อให้คณะทำงานได้ค้นหาแนวทางที่จะใช้เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานการรักษาสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมกับสัตวแพทย์ไทย
“ในปี 2557 ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม เป็นต้นไป สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (VPAT) ดีเดย์เปิดต้วโครงการพร้อมประกาศใช้มาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์ (TAHSA)ทุกประเภท ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ พร้อมมีการสาธิตระบบประเมินตนเองแบบออนไลน์ เพื่อให้สถานพยาบาลสัตว์สามารถตรวจสอบขั้นตอน กระบวนการ วิธีรักษา วินิจฉัยโรคได้อย่างมีมาตรฐาน ซึ่งโครงการสร้างมาตรฐานและการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์นี้ ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก The American Animal Hospital Association (AAHA) ในด้านข้อมูล รวมทั้งได้รับเงินสนับสนุนโครงการ จาก บริษัท ฮิลล์ เพ็ท นิวตริชั่น อิงค์”
สพ.ญ.ดร.ศิรยา ชื่นกำไร ประธานโครงการสร้างมาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง กระบวนการพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์ว่า คณะทำงานได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 พัฒนามาตรฐานโดย
กำหนดกรอบการทำงานโดยใช้มาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์ของสหรัฐอเมริกา
ศึกษาสถานภาพที่แท้จริงและพัฒนามาตรฐาน 13 เรื่องที่เหมาะสมกับประเทศไทย
จัดทำคู่มือเนื้อหาของมาตรฐานต่าง ๆ และทำประชาพิจารณ์
ระยะที่ 2 ประชาสัมพันธ์ และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ
เดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เพื่อให้ข้อมูลและเยี่ยมเยียน เพื่อรับทราบปัญหาและสถานภาพปัจจุบันของสถานพยาบาลสัตว์ในประเทศไทย
จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อประชาสัมพันธ์วัตถุประสงค์โครงการ และรับฟังประชาพิจารณ์
รับสมัครสมาชิกที่มีความเข้าใจในหลักการมาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์ เข้าร่วมงานเพิ่มเติมระยะที่ 3 รับรองมาตรฐาน
คัดเลือกและอบรมคณะทำงานรับรองมาตรฐาน
สร้างระบบประเมินตนเองแบบออนไลน์
ทั้งนี้การนำระบบมาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์มาใช้นอกจากจะเป็นการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยงแล้วยังช่วยทำให้เจ้าของสัตว์เกิดความมั่นใจในการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศ ซึ่งการประกาศใช้ระบบมาตรฐานดังกล่าวของประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการนำร่องและเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆในอาเซียนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit