กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมตั้งศูนย์สร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย

23 May 2014
ดร.ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดภารกิจสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ โดยนำทุนที่เป็นรากวัฒนธรรมที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนให้เพิ่มสูงขึ้น และสร้างความสุขให้กับประชาชน กระทรวงวัฒนธรรมจึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย (Inspire by Thai) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตร่วมสมัย วิจัยและพัฒนาการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอด การสร้างความรู้ความเข้าใจ และให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยน เผยแพร่ และสร้างความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ การปรับบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศบนรากฐานวัฒนธรรม จึงต้องปรับบทบาทใน 3 มิติ ดังนี้ มิติการบริหารทุนทางวัฒนธรรม โดยนำทุนมรดกวัฒนธรรมมาใช้สร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ มิติการผลักดันเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ การมีส่วนร่วมของชุมชนและประเทศ ในฐานะเจ้าของวัฒนธรรมอย่างเต็มรูปแบบ และมิติการพัฒนาสมรรถนะองค์กรและบุคคลากรรองรับการดำเนินงาน โดยเพิ่มศักยภาพและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานให้สามารถบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศชาติจากประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างยากจน ไปสู่ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างร่ำรวย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนจากทุนทางวัฒนธรรมที่ถูกนำมาใช้ให้ก่อประโยชน์อย่างสูงสุด

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยนนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนประเทศ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างมากมายและหลากหลายในวิถีชีวิตของคนไทยในพื้นที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น 9 เสน่ห์ 8 วิถี ได้แก่ เสน่ห์ของอารยธรรมล้านนา ศรีวิชัย ศรีโคตรบูรณ์ และวิถีความเป็นไทยในเรื่องอาหาร เครื่องแต่งกาย และหัตถกรรมไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นทุนต้นน้ำที่เกิดจากการสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้เกิดคุณค่าใหม่ที่ได้การยอมรับ ชื่นชม ที่เป็นองค์ความรู้ทางนวัตกรรมกระบวนการใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตร่วมสมัย ซึ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่กลางน้ำสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่า ส่งผลดีต่อการเสริมสร้างรายได้ให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น และทำให้ประชาชนมีความสุข

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันติ เจริญพรพัฒนา และนายสักกฉัฐ ศิวะบวร ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เห็นตรงกันว่า การที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ริเริ่มการก่อตั้งให้มีมีศูนย์สร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย (Inspire by Thai) ที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เป็นศูนย์บัญชาการในการบริหารจัดการและดำเนินงาน ทั้งในด้านการศึกษา วิจัยกรณีศึกษา และสร้างการรับรู้ และความเข้าใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ และการประชาสัมพันธ์ที่สร้างผลกระทบสูง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม โดยจะมีการตั้งกองทุนสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในระยะยาว ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำคู่มือ และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจร่วมกันเพื่อพัฒนางานสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย และท้ายที่สุดผลของการดำเนินการทั้งหมดจะสะท้อนออกมาเป็นภาพรวมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการค้าการลงทุนการให้บริการธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจในทุกภาคส่วนก็จะได้รับการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ยกตัวอย่างเช่นหากสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเมืองไทยใช้จ่ายเงินเพิ่มเติมจำนวน 1,000 บาทต่อคน เมื่อเป็นผลรวมทั้งหมดของจำนวนนักท่องเที่ยว จะสามารถเพิ่มรายได้ประชาชาติในประเทศไทยได้นับหมื่นล้านบาท