ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้ว่าจะเริ่มคลี่คลายขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็พบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายย่อยและผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (Small Enterprise) ซึ่งมีจำนวนกว่า 2.7 ล้านราย (รายงานประจำปี สสว. 2556) ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับในปี 2558 ที่กำลังจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้การแข่งขันทางการค้าน่าจะสูงขึ้นตามไปด้วย ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องสร้างความพร้อมในธุรกิจของตนเองในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียน ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายย่อยส่วนใหญ่มักมีข้อจำกัดในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงิน เพราะขาดความเชื่อมั่นในแผนธุรกิจและการประกอบการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมขาดสภาพคล่องทางการเงิน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีงานทำ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางการแข่งขึ้นที่สูงขึ้น จึงได้เร่งดำเนินการโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตรายย่อย ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียนในอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการจัดหาวัตถุดิบ เครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต และการจ้างงาน ฯลฯ ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – 30 ธันวาคม 2557 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 250 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นกำหนดให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ประสงค์ขอรับบริการสินเชื่อในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียงร้อยละ 5 ต่อปี คงที่เป็นเวลา 1 ปี (0.416 ต่อเดือน) หลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 6 ต่อปี (0.5 ต่อเดือน) ส่วนผู้ประกอบการที่ขอรับบริการสินเชื่อตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 6 ต่อปี อย่างไรก็ดี จากมาตรการดังกล่าว กรมฯ คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถขับเคลื่อนกิจการต่อไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 2,500 รายทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4,000 คน
สำหรับ ในปี 2556 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขอเข้ารับบริการสินเชื่อจำนวน 213 ราย โดยแบ่งเป็นประเภทอุตสาหกรรม ดังนี้ อุตสาหกรรมอาหาร 40 ราย อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 4 ราย อุตสาหกรรมผ้าและเครื่องแต่งกาย 63 ราย อุตสาหกรรมของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง 41 ราย อุตสาหกรรมศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก 19 ราย อุตสาหกรรมสมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร 4 ราย และอุตสาหกรรมอื่นๆ 42 ราย ซึ่งโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้ผลลัพท์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย โดยตั้งแต่ปี 2527 - 2556 สามารถสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตรายย่อยแล้วกว่า 23,000 ราย คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 1,600 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานใหม่ถึง 35,000 คนดร.อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการที่ขอรับสินเชื่อดังกล่าวนอกจากการรับบริการทางด้านการเงินแล้ว กรมฯ ยังเสริมความแข็งแกร่งในด้านการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย อาทิ การฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการ การตลาด และการเงินและบัญชี รวมทั้ง การให้คำปรึกษาแนะนำด้านธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายลูกค้า
เงินทุนหมุนเวียน ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้แก่ลูกค้าเงินทุนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายสินค้าที่กรมฯ จัดขึ้น
นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังมีโครงการอีกกว่า 50 โครงการ ที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในด้านแหล่งข้อมูล การให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ SMEs และการสร้างที่ปรึกษาเพื่อให้บริการปรึกษาแนะนำในสถานประกอบการต่าง ๆ รวมทั้ง การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs รายเดิมและรายใหม่ การพัฒนาองค์กรธุรกิจให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร พัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาการจัดการองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพในการผลิต โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และที่สำคัญการเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการและบริษัทแข่งขันในเวทีสากลได้ โดยเฉพาะในเวทีอาเซียน ดร.อรรชกา กล่าวทิ้งท้าย