รายงาน “วิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยี 2557” นำเสนอ 6 เทรนด์เทคโนโลยีที่ส่งผลให้กิจการขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทร่วมกับกิจการสตาร์ทอัพที่เดิมถือว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในตลาด ด้วยการขยายพรมแดนความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมให้กว้างไกลกว่าเดิม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รายงานนี้ยังพบว่า กิจการชั้นนำต่างนำกลยุทธ์ด้านดิจิตอล เช่น ระบบโมบิลิตี้ ระบบวิเคราะห์ข้อมูล (analytics) และระบบคลาวด์ มาใช้ในการพัฒนาระบบการทำงาน นำข้อมูลแบบเรียลไทม์มาใช้ประโยชน์ ขยายขีดความสามารถของบุคลากร รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการและใช้ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ
นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทยกล่าวว่า “เราพบว่า บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมี ความพร้อมด้านทรัพยากร ด้านขนาด และมีความต้องการเปลี่ยนโฉมองค์กรไปสู่องค์กรดิจิตอล ได้หันมามีบทบาทนำในตลาดอีกครั้ง โดยกิจการเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการขับเคลื่อนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับวิธีการทำตลาด ทำงานร่วมกับพันธมิตร สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และการจัดการธุรกรรมต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคโนโลยีดิจิตอลแทรกซึมเข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของดีเอ็นเอระบบการทำงานขององค์กรมากขึ้น ส่งผลให้องค์กรเหล่านี้พร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิตอลในอนาคต"
6 เทรนด์เทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในบทบาทเทคโนโลยีดิจิตอล
-เส้นแบ่งระหว่างโลกดิจิตอลและโลกจริงหายไป (Digital-Physical Blur) เพิ่มความอัจฉริยะให้กับทุกสิ่ง โลกแห่งความจริงกลายเป็นโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะอุปกรณ์พกพา ระบบอัจฉริยะ และเครื่องมือต่างๆ ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลเรียลไทม์ เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต รวมถึงการดำเนินธุรกิจขององค์กร การเชื่อมโยงในส่วนต่างๆ เหล่านี้ช่วยเพิ่มศักยภาพของบุคลากร ทำให้ระบบทำงานอย่างอัตโนมัติ และทำให้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ในแง่ของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยเพิ่มบทบาทของตนมากขึ้น องค์กรก็ได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่เป็นประโยชน์ โดยพนักงานและอุปกรณ์ต่างๆ สามารถตอบสนองต่อเกือบทุกสถานการณ์ ได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด ตัวอย่างเช่น บริษัท โคนินคลิจเก้ ฟิลิปส์ เอ็น.วี. (Koninklijke Philips N.V.) กิจการในอุตสาหกรรมการแพทย์ ได้ทดลองใช้แอพพลิเคชั่น Google GlassTM ซึ่งทำให้แพทย์ที่สวมอุปกรณ์ สามารถมองเห็นชีพจรของคนไข้และดำเนินการผ่าตัดไปพร้อมๆ กันได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องละสายตาจากคนไข้หรือหยุดระหว่างผ่าตัด
-เปลี่ยนจากการใช้บุคลากรภายในสู่การระดมสมองจากบุคคลภายนอก เข้าสู่ยุคองค์กรไร้พรมแดน (From Workforce to Crowdsource) ลองนึกภาพกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งมิใช่เพียงพนักงานของบริษัท แต่ประกอบไปด้วยใครก็ได้ที่ใช้อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยให้องค์กรเข้าถึงทรัพยากรบุคคลมากมายจากทั่วโลก ตัวอย่างเช่น บริษัท มาสเตอร์คาร์ด อินคอร์ปอเรทเต็ด (MasterCard Incorporated) และเฟซบุ๊ค อิงค์ (Facebook Inc.) ที่สรรหาบุคลากรผ่าน Kaggle Inc. เครือข่ายระดับโลกที่มีทั้งนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ นักคณิตศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ที่แข่งกันคิดค้นเพื่อแก้ปัญหา ตั้งแต่เรื่องการหาเที่ยวบินที่ดีที่สุด ไปจนถึงเรื่องการใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งร้านค้าปลีก การใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่ก็นับเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ด้วย เพราะทำให้เข้าถึงเครือข่ายของคนทำงานที่มีขนาดใหญ่และคล่องตัว ซึ่งไม่เพียงสามารถแก้ปัญหาทางธุรกิจที่ยากๆ บางเรื่อง แต่หลายครั้ง กลุ่มคนทำงานเหล่านั้นก็พร้อมร่วมช่วยเหลือกันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
-สร้างซัพพลายเชนสำหรับข้อมูล (Data supply chain) ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการข้อมูล เพื่อให้มีการกระจายข้อมูลได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น เทคโนโลยีข้อมูลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่มีการนำมาใช้งานเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ข้อมูลขององค์กรมีการนำมาใช้ประโยชน์น้อยเกินควร โดยมีองค์กรเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีการบูรณาการข้อมูลเข้าไว้ด้วยกันทั่วทั้งองค์กร(1) ดังนั้น บริษัทต่างๆ จึงต้องเริ่มดูแลข้อมูลให้เหมือนกับเป็นระบบห่วงโซ่หรือซัพพลายเชน โดยให้มีการกระจายข้อมูลทั่วทั้งองค์กรและในระบบที่เกี่ยวข้องส่วนอื่นด้วย ดังเช่น กูเกิล อิงค์ และวอลกรีนส์ โค. (Walgreens Co.) ที่ใช้แนวทางดังกล่าวโดยเปิดกว้างให้ใช้แอพพลิเคชันอินเตอร์เฟซได้ ส่งผลให้ปัจจุบันมีเว็บไซต์กว่า 800,000 แห่งเข้ามาใช้ข้อมูลจาก Google MapsTM นอกจากนี้ นักพัฒนาระบบภายนอกยังสามารถสแกนบาร์โค้ดจากขวดผลิตภัณฑ์ยาของวอลกรีนส์ลงในแอพพลิเคชั่นของตน เพื่อให้การสั่งจ่ายยาซ้ำทำได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
-ปรับขยายระบบการทำงานให้มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพเพิ่มขึ้น (Harnessing hyperscale) ฮาร์ดแวร์กลับมามีบทบาท (ซึ่งก็ไม่เคยหายไปไหน) โลกแห่งฮาร์ดแวร์คือ แหล่งรวมนวัตกรรม เพราะคนมีความต้องการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีขนาดใหญ่และทำงานได้เร็วขึ้นกว่าเดิม พัฒนาการด้านการใช้พลังงาน สมรรถนะของระบบประมวลผล ความจำที่เสถียร และโครงสร้างสถาปัตยกรรมพื้นฐานที่ดี จะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กิจการสามารถปรับขยายระบบให้ใหญ่โต เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าที่เคยมีมา ยิ่งปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นระบบดิจิตอลมากเท่าใด กิจการจะยิ่งเห็นความสำคัญของฮาร์ดแวร์ในฐานะปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตขั้นต่อไปในอนาคต
-ยุคของแอพพลิเคชั่น (Business of Applications) ซอฟต์แวร์ถือเป็นความสามารถหลักในโลกดิจิตอลการเปลี่ยนแปลงในโลกขององค์กรนั้นเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของผู้บริโภค โดยองค์กรต่างนำแอพพลิเคชั่นมาใช้เพื่อให้การดำเนินงานคล่องตัวขึ้น โดยงานวิจัยของเอคเซนเชอร์ชี้ว่า 54% ของทีมไอทีที่มีผลงานโดดเด่นต่างนำแอพพลิเคชั่นองค์กรมาใช้ (2) เพื่อช่วยให้พนักงานเปลี่ยนมาใช้แอพพลิเคชั่นโมดูลที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ซึ่งผู้บริหารด้านไอทีและผู้บริหารขององค์กรต้องกำหนดว่าใครจะทำหน้าที่อะไรในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อพัฒนาไปสู่องค์กรดิจิตอล เพราะแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดมาจากองค์กรเอง นอกจากนี้ องค์กรต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว สนับสนุนการทำงานของซอฟต์แวร์ และเร่งสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจในที่สุด
-ความยืดหยุ่นของสถาปัตยกรรม (Architecting Resilience) สรรค์สร้างเพื่ออยู่รอดคือ บทบัญญัติสำคัญของธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง ในยุคดิจิตอล ธุรกิจต่างๆ ต้องสามารถตอบสนองความต้องการที่ไม่หยุดนิ่ง ทั้งในด้านกระบวนการทำงาน บริการ และระบบต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งองค์กร โดยเฉพาะทีมผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือซีไอโอ ซึ่งอาจมองความต้องการโครงสร้างที่ทำให้ระบบทำงานได้ตลอดเวลา (Always on) ไม่เพียงในแง่ของการทำให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามปรกติ แต่ยังรวมถึงความเป็นไปได้ในการทำให้แบรนด์เสื่อมค่าลง องค์กรอย่าง เน็ตฟลิกซ์ อิงค์ (Netflix Inc) หนึ่งในผู้นำทางด้านไอทีนั้น ใช้เครื่องมือทดสอบสมรรถนะการต้านทานการโจมตีระบบแบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ระบบของตน องค์กรชั้นนำเหล่านี้ต้องทำให้มั่นใจได้ว่า การออกแบบและพัฒนาระบบนั้น สามารถรองรับความล้มเหลวของระบบได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโมดูลต่างๆ และระบบทดสอบอันล้ำสมัย มากกว่าการออกแบบตามความต้องการเท่านั้น
"เทรนด์เทคโนโลยีหลักๆ นี้เป็นสิ่งที่เราพบเห็นตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้วเราประกาศว่า ธุรกิจทุกประเภทคือธุรกิจดิจิตอล ไม่ว่าผู้บริหารของแต่ละองค์กรจะตระหนักหรือไม่ ส่วนปีนี้ เรามองนว่าเทคโนโลยีดิจิตอลมีบทบาทในทุกภาคส่วนขององค์กรที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น เห็นได้จากการเปลี่ยนบทบาทด้านเทคโนโลยี และผลกระทบที่มีในเชิงยุทธศาสตร์และการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ ทั่วโลก เราเชื่อว่ายังมีโอกาสมากมายมหาศาลสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอล เพื่อปฏิวัติพลิกโฉมธุรกิจของตนใหม่ให้มีขีดความสามารถ ในการแข่งขันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด" นนทวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เอคเซนเชอร์ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมขององค์กรธุรกิจทั้งหมด และนำข้อมูลที่ได้มาระบุเทรนด์ไอทีใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานการวิจัยเรื่องเทรนด์เทคโนโลยีปี 2557 สามารถเข้าดูได้ที่ www.accenture.com/technologyvision หรือติดตามจากทวิตเตอร์ #TechVision2014
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit