“เซเรบอสอวอร์ด 2014” ทุนวิจัยด้านสุขภาพของคนไทย ต่อยอดองค์ความรู้ ยกระดับการวิจัยทางสุขภาพ

06 Jun 2014
เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย เปิดโครงการ “ทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ด” ประจำปี 2014 ทุนวิจัยด้านโภชนศาสตร์และสุขภาพ เป็นปีที่ 14 หวังกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน
“เซเรบอสอวอร์ด 2014” ทุนวิจัยด้านสุขภาพของคนไทย ต่อยอดองค์ความรู้ ยกระดับการวิจัยทางสุขภาพ

โครงการ “ทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ด” เป็นโครงการสนับสนุนให้นักวิจัยไทย ร่วมส่งผลงานเพื่อขอรับทุนที่เกี่ยวข้องกับด้านโภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ​เพื่อเป็นการยกระดับ​ความสามารถ​ใน​การ​แข่งขันทางวิชา​การของ​ไทย ส่งเสริมด้านโภชนการ และสุขภาพให้กับคนไทย ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 14 ได้มอบทุนวิจัยเป็นจำนวนเงินปีละ 500,000 บาท โดยไม่มีข้อผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิจัยได้รับทุนจากโครงการไปแล้วกว่า 40 ผลงาน

ศ.นพ.จอมจักร จันทรสกุล ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย และประธานคณะกรรมการพิจารณาทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ด เปิดเผยว่า โครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด (Cerebos Awards) ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทย ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการทั่วไป ได้ร่วมส่งผลงานวิจัย เพื่อขอรับทุนทางด้านการแพทย์ โภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และยา รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคที่มีผลต่อโภชนบำบัดและการส่งเสริมสุขภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม อีกทั้งเพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของประเทศไทย ไปสู่การยอมรับในระดับโลก ซึ่งงานวิจัยที่ถูกคัดเลือกให้ได้รับทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ด จะผ่านการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาทุนฯ ประกอบด้วยนักวิชาการอิสระ เช่น แพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ โดยมีแนวทางในการพิจารณาประกอบด้วย (1) การนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป (2) ความคิดริเริ่ม (3)โอกาสที่จะทำงานวิจัยให้สำเร็จ และ (4)ความสำคัญทางวิชาการ วิธีการวิจัยและการดำเนินงาน โดยโครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด จะมอบทุนวิจัยประเภทวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ซึ่งสามารถแบ่งให้โครงการวิจัยได้ไม่เกิน 5 โครงการต่อปี

นายตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท เซเรบอส เรียกได้ว่าเป็นบริษัทแรกๆ ของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางคลินิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ศึกษาถึงคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมสังคมและแวดวงทางวิชาการ อย่างเช่น โครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด นี้ก็ได้ร่วมกับมูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย ก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จวบจนบัดนี้นับเป็นปีที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของนักวิจัยไทยไปสู่การยอมรับในระดับโลก เนื่องจากบริษัทฯได้เล็งเห็นว่านักวิจัยไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดๆ แต่อาจจะยังขาดการสนับสนุนด้านทุนวิจัย และโอกาสในการต่อยอดผลงานให้สามารถใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ที่ผ่านมาทางโครงการได้ให้ทุนวิจัยไปแล้วถึง 40 ทุนวิจัย โดยมีงานวิจัยที่วิจัยสำเร็จและและได้รับตีพิมพ์ในวารสารทางแพทย์ชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว 23 ผลงานวิจัย ซึ่งเซเรบอสรู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้าและพัฒนาด้านวิชาการในประเทศไทยต่อไป

ผศ.ภญ.ดร.สริน ทัดทอง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2011 ในการวิจัยเรื่อง “ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทและฤทธิ์กระตุ้นการงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาทของสารสกัดจากผลไม้” (Neuritogenic and Neuroprotective activities of fruit residue) ซึ่งงานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาท และฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทของสารสกัดผลไม้ โดยผู้วิจัยเลือกศึกษาสารสกัดเปลือกผลลิ้นจี่ (Litchi chinensis Sonn., วงศ์ Sapindaceae) เปลือกผลสละ (Salacca edulis Reinw., วงศ์ Arecaceae) เปลือกเมล็ดละมุด (Achras sapota L., Sapotaceae) และเปลือกเมล็ดมะขาม พันธุ์ปลูก (cultivated variety) ศรีชมพู (Tamarindus indica L. Srichompu cultivar., วงศ์ Caesalpiniaceae) หลังจากทำการวิจัยและทดสอบอัตราการรอดชีวิตของเซลล์ประสาทเมื่อได้รับสารสกัดผลไม้ทั้ง 4 ชนิดนี้ที่ความเข้มข้นต่ำระดับนาโนกรัมต่อปริมาตรในหน่วยมิลลิลิตร พบว่า สารสกัดเปลือกผลลิ้นจี่และสละ ที่ความเข้มข้น 1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดเปลือกเมล็ดละมุด ที่ความเข้มข้น 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร และ สารสกัดเปลือกเมล็ดมะขาม ที่ความเข้มข้น 100 นาโนกรัม/มิลลิลิตร สามารถทำให้เซลล์ประสาทมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่ากลุ่มควบคุม

นอกจากนี้ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า สารสกัดทั้ง 4 ชนิดนี้ สามารถกระตุ้นให้เซลล์ประสาทเกิดงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาทได้มากกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารทดสอบ และยังแสดงฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทจากสภาวะเครียดออกซิเดชันที่จำลองขึ้น ผู้วิจัยได้ทำการตรวจวัดปริมาณฟีนอลิครวมและฟลาโวนอยด์รวมในสารสกัด พบว่า มีปริมาณสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสารออกฤทธิ์หลักในการกระตุ้นการงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาทและปกป้องเซลล์ประสาทของสารสกัดเหล่านี้ และทำหน้าที่เป็นสารส่งสัญญาณภายในเซลล์มากกว่าที่จะเกิดจากการทำหน้าที่เป็นเพียงแค่สารต้านอนุมูลอิสระ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของเปลือกผลไม้ ซึ่งเป็นเพียงขยะเหลือใช้ในครัวเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม ที่สามารถนำมาพัฒนาไปเป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นการงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาทและฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาท เพื่อใช้ในการรักษาหรือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติ Natural Product Communications เมื่อปี คศ. 2013 เล่มที่ 8 ฉบับที่ 11 หน้า 1583-1586.

โครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014 ขอเชิญชวนแพทย์ เภสัชกร นักโภชนการ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั่วไป ส่งผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ โภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าร่วมคัดเลือกรับทุนวิจัยฯ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคม 2557 โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และขอรับใบสมัครที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 02-650-9777 หรือ http://www.brandsworld.co.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(