ความท้าทายของธุรกิจเอสเอ็มอีในการเข้าสู่ตลาดเอเชีย
นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวถึงความท้าทายของ SMEs ในการเข้าสู่ตลาดเอเชีย ว่า “สำหรับ SMEs แล้ว ถือเป็นโอกาส แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาดของเอเชียได้ ด้วยการสร้างความแตกต่างโดยผ่านการสร้าง Innovation ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งเวทีนี้ คือโอกาสที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาศึกษา และเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัว เพราะหลายๆ คนอาจมองว่า การเปิด AEC นั้น เป็นทั้งการแข่งขัน และการร่วมมือ ซึ่งผู้ประกอบการเองก็จะต้องมีการปรับตัวและตรียมความพร้อม ด้วยการสร้างเอกลักษณ์และความโดดเด่นให้กับตัวเอง และนี่คือสิ่งที่ท้าทายว่าตัวเราจะผ่านตรงนี้ไปได้หรือเปล่านั่นเองค่ะ”
ทางด้าน นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า มีความท้าทายหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นสำหรับเอสเอ็มอีไทย หนึ่งในนั้นก็คือการไม่มีความมั่นใจในตัวเองและไม่กล้าที่จะเดินออกไปข้างนอกของผู้ประกอบการ โดยยึดติดกับการธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้น การที่เราเห็นถึงความท้าทายแบบนี้จะเป็นการช่วยกันปูทางไปข้างหน้าให้มองเห็นได้ชัดขึ้น ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยได้ ในขณะเดียวกันไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ค้า หรือผู้ให้บริการเอง ก็ยังมองการตลาดในเชิงรับมากกว่าเป็นฝ่ายรุก ซึ่งในโลกธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปนี้ก็อยากจะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกล้าที่จะเปลี่ยนความท้าทายแล้วเดินเข้าสู่สิ่งใหม่ๆ หรือกล้าที่จะเดินเข้าหาการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าหากเรามีความร่วมมือกันช่วยกันเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความแตกต่างให้กันก็จะทำให้เอสเอ็มอีไทยอยู่รอดและเติบโตได้ไม่ยาก
“นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของ SMEs ไทย ในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการแห่งเอเชีย (The Entrepreneur of Asia) ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อกระแสและเทรนด์ของโลกในด้านหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการขยายตัวและเติบโตของวิถีคนเมืองในชนชั้นกลาง (Urbanization) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศอันจะเป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้ SMEs ท่ามกลางความผันแปรของระบบเศรษฐกิจภายใต้โลกาภิวัฒน์และการเมืองโลก (Digital Lifestyle)”ด้าน มร.เกล็นดอน ชุค ผู้จัดการทั่วไป Franchising & Licensing Association (FLA - Singapore) กล่าวว่า มี 4 ประเด็นหลักที่จะถือเป็นความท้าทายของเอสเอ็มอีในวันนี้ อย่างแรกก็คือ ทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะทำอย่างไรให้เขาทำงานกับเราต่อไป อย่างที่สองคือด้านการเงิน ที่ความเข้มงวดของแบงค์ที่จะเพิ่มมากขึ้น สามก็คือเรื่องของการตลาด ภายใต้สารพัดกฎเกณฑ์จากทั้ง WTO, เขตการค้าเสรีต่างๆ รวมถึง AEC ด้วย ซึ่งการเข้าสู่ AEC เป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยให้ต้นทุนในการผลิตลดลงและทำให้การซื้อเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ SMEs ขายของได้มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง และสุดท้ายก็คือเรื่องของ IT หรือการผนวกเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับธุรกิจที่จะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต
มร. ปีเตอร์ กัน ประธาน Hong Kong Association for Promotion and Development of Small and Medium Enterprises (HKSME – Hong Kong) กล่าวว่า ที่ฮ่องกงรัฐบาลให้ความสำคัญและช่วยเหลือ SMEs เป็นพิเศษ โดย SMEs ประมาณ 300,000 ราย ที่ทดลองขยายตลาดในต่างประเทศจะได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินในบางส่วนจากรัฐบาล ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ SMEs พัฒนาตัวเองหรือได้เปิดประสบการณ์ในการขยายตลาดในต่างประเทศ ไม่ใช่ค้าขายในประเทศของตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs เติบโตและมีความเข้มแข็ง
บทบาทของ IT สำหรับธุรกิจ SMEs
มาถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในโลกปัจจุบันและอนาคตซึ่งผู้เชี่ยวชาญ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า สิ่งที่ SMEs ต่างก็ให้ความสนใจมากในปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งอาจจะทำให้ SMEs ตามไม่ทัน ไม่มีความกล้าที่จะนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้ หรือบางส่วนยังคงยึดติดกับกรอบเดิมๆ ซึ่งไลฟ์สไตล์ที่มีบทบาทต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้น เราก็ต้องค่อยๆ มองหากิจกรรมบางอย่างที่เป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับ SMEs ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็อาจทำได้ง่าย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาอยู่แล้ว แต่สำหรับธุรกิจที่ดำเนินงานมาเป็น 20-30 ปีก่อนหน้านี้แล้ว จำเป็นที่จะต้องค่อยๆ สร้างความเข้าใจ ผ่านการร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้ SMEs กล้าและเกิดความคุ้นเคยที่จะนำเอาประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปใช้ในที่สุด
พร้อมกันนี้ มร.เกล็นดอน ชุค ก็ได้ยกตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการนำ IT มาใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการตลาดและการขาย เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ที่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะนิยมรับประทานอาหารฮาลาล เมื่อเขาปรับตัวให้ร้านอาหารญี่ปุ่นของเขาเป็นอาหารญี่ปุ่นแบบฮาลาล ก็ทำให้สามารถที่จะดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น ส่วนอีกร้านหนึ่งซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีคนต่อคิวรอยาวมาก เขาเลยนำไอแพดไปวางไว้บริเวณหน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าจองคิวสามารถเลือกเมนูที่อยากจะทานได้โดยไม่ต้องยืนรอต่อคิว เพราะเมื่อถึงคิวทางร้านก็จะมีบริการส่ง SMS แจ้งให้ทราบทันที ซึ่งนี่คือการนำไอเดียบวกกับไอทีในการช่วยเสริมธุรกิจอย่างเห็นผลอย่างชัดเจนที่สุด
มาถึงมุมมองของ SMEs สำหรับการก้าวสู่ AEC ในปีหน้า ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่าจะทำให้ต้นทุนต่างๆ ลดลง และจะทำให้อำนาจในการซื้อของคนส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มีเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นสำหรับ SMEs ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะขยายตลาด แต่ในขณะเดียวกันสำหรับ SMEs ไทยแล้วโดยเฉพาะผู้ประกอบการ
ขนาดกลาง-ย่อมยังเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย เนื่องจากปัจจัยหลักในเรื่องของเงินทุน จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการทุกรายก็ต้องกลับมานั่งทบทวนจุดอ่อน และจุดแข็งของตัวเอง พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการหา Solution ใหม่ๆ ต้องตั้งหลักให้ดี ปรับปรุงและพัฒนาให้สินค้าและบริการมีคุณภาพเพียงพอสำหรับผู้บริโภคจากนอกประเทศที่จะเข้ามา ซึ่งนับเป็นความน่าสนใจและท้าทายสำหรับ SME ที่มีความยืดหยุ่นสูงในการทำธุรกิจ สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย เพียงแค่มีการวางแผนให้ดีและมีความชัดเจนก็สามารถที่จะเติบโตไปได้ในเวทีการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
สำหรับการจัดงาน SME BIZ ASIA 2015 จะมีกำหนดจัดเกิดขึ้นในระหว่าง วันที่ 22 - 24 มกราคม 2558 ณ บริเวณฮอลล์ 5-6, ศูนย์การแสดงสินค้าและการจัดประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จึงถือเป็นการติดอาวุธทางธุรกิจครั้งสำคัญและเป็นโอกาสที่ดีที่ SMEs จะได้เจอกับพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ ที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือกันเพื่อให้งานนี้เป็นแหล่งรวม SME จากทั่วโลก และเป็นการยกระดับ SMEs ของไทยให้มีคุณภาพ และมีความเข้มแข็งมากขึ้น และพัฒนาสู่เอเชีย ผ่านการเจรจาธุรกิจกับคู่ธุรกิจในเอเชียด้วยรูปแบบ Business to Business เพื่อที่ SMEs ไทย จะได้มีโอกาสพบคำตอบและหนทางใหม่ๆ สำหรับการก้าวเข้าสู่ AEC
SME Biz Asia 2015 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Innovative Solutions Driven – Enhance SME Businesses & Empower SME Networks” พร้อมเนรมิตพื้นที่จัดแสดงงานกว่า 10,000 ตารางเมตร พร้อมรวบรวม “นวัตกรรมเชิงการจัดการ” ที่ครอบคลุมใน 7 โซนหลัก ได้แก่ SME Financing แหล่งเงินทุนและผลิตภัณฑ์ทางด้านการประกันภัย ประกันอุบัติเหตุและประกันกลุ่มสำหรับ SMEs Marketing & Design Innovation กลยุทธ์ / เครื่องมือทางการตลาด การตลาดบนโลกออนไลน์ ผู้พัฒนาเว็บไซต์ และการออกแบบในยุคดิจิตอล ที่จะช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับ SMEs Printing Innovation นวัตกรรมการพิมพ์ 3D เทคโนโลยีการพิมพ์ในยุคดิจิตอล เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับ SMEs Office Automation & Support Services การบริหารจัดการออฟฟิศโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ Franchising Opportunities โอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้มองหาการลงทุนจากระบบการค้าที่มีตราสินค้า Logistic Services การบริหารวัสดุคงคลัง บริการขนส่งและการให้บริการจัดเก็บสินค้า Energy Saving & Security การบริหารพลังงานเพื่อลดต้นทุนของธุรกิจ และระบบรักษาความปลอดภัย
นายสักกฉัฐ ศิวะบวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบริก จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน SME Biz Asia 2015 ในครั้งนี้กล่าวว่า อุตสาหกรรมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นั้นจัดว่าเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย โดยมีสัดส่วนมากถึง 96 % ของบริษัทห้างร้านทั้งหมดในประเทศ อีกทั้งยังสร้างงานให้ประชากรกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นการที่ประเทศไทยภาคอุตสาหกรรม SMEs ที่เข้มแข็งเต็มไปด้วยแรงขับเคลื่อนและมีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน การจัดงานครั้งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเราที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน SMEs ไทยสู่การแข่งขันในเวทีสากล
“สำหรับ SMEs ที่เข้าถึงบริการต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐและยังรู้สึกว่าท่านยังต้องการเติมเต็มศักยภาพการแข่งขันให้สมบูรณ์หรือพร้อมที่จะเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในปี 2015 งาน SME Biz Asia 2015 จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้นำโซลูชั่นต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเองเพื่อการเติบโตแบบยั่งยืนต่อไป” สักกฉัฐ กล่าวสรุปในตอนท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02 641 4381 ต่อ 19- 21 หรือคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.smebizasia.com